ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
รสเฝื่อนของชาเขียวที่สัมผัสผ่านทางลิ้นได้นั้นคือรสเบื้องต้น ซึ่งคนไทยที่นิยมรสต้นตำรับชาแท้ก็คงอยากดื่มแบบไม่ต้องนึกถึงน้ำตาล แต่ถ้าเป็นรสชาติอีกระดับหนึ่งของชาเขียว ในโลกนี้คงไม่มีใครรู้ดีไปกว่าคนญี่ปุ่น รสชาตินี้คนญี่ปุ่นบอกว่าลิ้นสัมผัสไม่ได้ ต้องใช้ใจซึมซับเอาเท่านั้น... ลึกซึ้ง
คนอังกฤษดื่มชาเฉลี่ยคนละ 3.5 – 4 แก้วต่อวัน คนไต้หวันริเริ่มเอาสาคูใส่ชากลายเป็นต้นกำเนิดของชาไข่มุก คนอินเดียใช้น้ำชารับรองแขก คนพม่าไม่เพียงแต่ดื่มน้ำชา แต่นำใบมาหมักเป็นอาหารด้วย คนไทยดื่มชาเขียวเป็นแฟชั่น ดื่มเพื่อความสวย หรือเพื่อความรวยด้วยการลุ้นรางวัลใต้ฝาขวด จะเห็นได้ว่าทั่วโลกต่างปฏิบัติต่อชาในเชิงเครื่องดื่มหรืออาหาร แต่การนำ “พิธี” ไปใส่ให้แก่ชานั้น เป็นที่ทราบดีว่า มีเพียงไม่กี่ชาติเท่านั้นที่ทำ และชาติที่ทำได้โดดเด่นที่สุดในปัจจุบันคือญี่ปุ่น น่าทึ่งมากที่ว่า แค่การดื่มน้ำชาซึ่งไม่น่าจะต่างจากการดื่มน้ำ(ร้อน)เท่าไร คนญี่ปุ่นยังหาพิธีให้น้ำชาแจ้งเกิดได้จนกลายเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ ซึ่งแม้แต่คนต่างชาติก็อยากลองสัมผัสดูบ้าง รวมทั้งผมด้วย
พอชาเขียวมีเวทีให้สำแดงรสชาติได้อย่างสง่า จากชาที่ใช้ดื่มธรรมดา จึงกลายเป็นชาที่ให้กำเนิดรสชาติอีกมิติหนึ่งออกมาคือ รสชาติแห่งความสงบทางใจ...คนญี่ปุ่นว่าไว้อย่างนั้น รสชาติที่ว่านี้ได้จากพิธีที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ซะโด” (茶道;sadō; วิถีแห่งชา) หลายคนเรียกพิธีนี้ว่าพิธีชงชา แต่จริงๆ แล้วคำว่า “พิธีชา” น่าจะเป็นคำที่เหมาะกว่าเพราะในพิธีนี้ไม่ได้มีแค่การชงชา แต่ครอบคลุมองค์ประกอบที่กว้างขวาง ไม่ได้ชงแล้วดื่มอย่างเดียวจบ อีกทั้งยังมีนัยเชิงนามธรรมมากกว่าทางกายภาพด้วย ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “tea ceremony” ซึ่งก็แปลตรงๆ ได้ว่า “พิธีชา”
พระเอไซผู้นำเมล็ดชามาจากจีน ไม่ได้มีชาติดมือมาเปล่าๆ แต่เอาพิธีชากลับมาด้วย พิธีที่พระเอไซเผยแพร่เป็นพิธีชาที่เรียนรู้มาจากพระในวัดทางพุทธศาสนาของจีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. 1503 – 1822) พระอิกคิว (อิกคิวซังที่คนไทยรู้จักนั่นแหละ) ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เชื่อว่าพิธีชาช่วยให้เกิดดวงตาเห็นธรรมได้มากกว่าการนั่งสมาธินานๆ (ศาสนาพุทธนิกายเซ็น) พอชาแพร่หลายออกไป พิธีก็ค่อยๆ เป็นที่รู้จักกันกว้างขึ้น เมื่อพระคือผู้เริ่มทำพิธีชาก่อน แนวคิดทางศาสนาจึงได้รับการถ่ายทอดลงไปในพิธีด้วย เช่น พระรูปหนึ่งซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระอิกคิว แขวนกระดาษม้วนที่มีตัวอักษรเขียนคำทางพุทธศาสนาไว้เวลาทำพิธีชา และสอนให้ชนชั้นสูงละเว้นจากความหรูหรา
พิธีชามีการปรับเปลี่ยนมาเรื่อยแล้วแต่เจ้าพิธี จนกระทั่งถึงปลายศตวรรษที่ 16 พระเซ็น โนะ ริกิว (Sen No Rikyū; พ.ศ. 2065 - 2134) ได้วางรากฐานพิธีชาให้สมบูรณ์ และพัฒนารูปแบบขึ้นมาอย่างชัดเจนโดยยึดความสมถะเรียบง่ายเป็นหลัก กล่าวคือ ในห้องพิธีชา จะไม่เอาสิ่งของหรูหราหายากจากจีนมาประดับ แต่จะเอาของญี่ปุ่นที่หาง่ายๆ มาวาง พร้อมทั้งสอดแทรกแนวคิดที่ดีงามทั้งหลายลงไปพิธี เช่น ประตูเข้าห้องทำพิธีชาบนเรือนน้ำชาจะทำให้เป็นประตูเตี้ยๆ ใครจะเข้าไปก็ต้องก้มศีรษะ จึงจะผ่านเข้าไปได้ สื่อว่าทุกคนควรมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ว่าจะเป็นซะมุไรหรือใครๆ ก็ตาม เป็นต้น หลังจากนั้น ได้เกิดสำนักใหญ่เกี่ยวกับพิธีชาขึ้นมา เช่น สำนักอุระเซ็งเกะ (裏千家;Ura-senke) ซึ่งแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน
ผมได้ยินเกี่ยวกับพิธีชามาตั้งแต่เริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น จึงสงสัยมานาน...นานมากๆ ว่า แค่การดื่มชา ต้องสรรหาองค์ประกอบมาจัดเป็นพิธีการด้วยหรือ? แล้วแค่น้ำชานี่นะ...จะให้กำเนิดอะไรลึกซึ้งได้หรือ?
ตำราบอกไว้ว่า พิธีชามีโครงสร้างและลำดับเป็นขั้นเป็นตอน มีแนวคิดหลายอย่างผสานกันอยู่ เช่น ศิลปะการคัดลายมือ การจัดดอกไม้ ศาสนา สถาปัตยกรรม ผู้ที่ร่วมพิธีจะได้รับการบ่มเพาะเรื่องความคิดสร้างสรรค์เชิงศิลปะ การอ่อนน้อมต่อผู้อื่น และการแลกเปลี่ยนทางสังคม วัฒนธรรมเกี่ยวกับพิธีชาจึงเป็นบ่อเกิดอันลุ่มลึกของทัศนคติและความเป็นคนญี่ปุ่นทีเดียว อย่างสำนวนที่ยังคงใช้แพร่หลายในปัจจุบันที่ว่า “อิชิโงะ อิชิเอะ” (一期一会;Ichigo Ichie) ซึ่งแปลว่า “การได้พบกันแค่ครั้งเดียวในชีวิต” (ดังนั้น จงให้ความสำคัญแก่การพบกันครั้งนั้นและทำให้น่าประทับใจที่สุด) ก็มีต้นกำเนิดมาจากพิธีชาของญี่ปุ่น
โอกาสร่วมพิธีชาของญี่ปุ่นหาได้ไม่ง่ายนัก สมัยนี้คนญี่ปุ่นเองยังไม่ค่อยมีโอกาส ยิ่งถ้าเป็นคนต่างชาติยิ่งยากใหญ่ แต่ด้วยความเป็นเจ้าหนูจำไมและความซอกแซกทำให้ผมได้ไปร่วมมา 3 ครั้ง ถึงได้ทราบว่าพิธีชามีรายละเอียดเยอะอย่างที่ตำราว่าไว้จริง
ชาที่ใช้ในพิธีคือชาเขียวมัตชะชั้นดี มีกาเฟอีนสูง พิธีชาจะทำในห้องชาเรียกว่า “ชะชิสึ” (茶室;cha-shitsu) ซึ่งเป็นห้องแบบญี่ปุ่น บุพื้นด้วยเสื่อ “ทะตะมิ” (畳;tatami) ที่ด้านหนึ่งของกำแพงมีช่องเว้าเข้าไปเป็นลักษณะคล้ายตู้เจาะผนัง เรียกว่า “โทะโกะโนะมะ” (床の間;tokonoma) ในเวิ้งที่เว้าเข้าไปนี้มีแผ่นกระดาษม้วนที่เขียนข้อความแขวนอยู่ และมีดอกไม้ตามฤดูกาลจัดตามศิลปะญี่ปุ่นเรียกว่า “อิเกะบะนะ” (生け花;ikebana)
การร่วมพิธีชาคือการไปเป็นแขกร่วมดื่มชา แต่กว่าจะได้ดื่มชาปริมาณประมาณครึ่งถ้วยขนมบัวลอย ต้องคอยประมาณครึ่งชั่วโมง บรรยากาศของพิธีขรึมมาก เมื่อแขกเข้าไปในห้องพิธีชา จะพินิจตัวอักษรบนกระดาษที่แขวนอยู่ (ผมอ่านออกบ้างไม่ออกบ้าง หรือบางทีอ่านออก แต่ก็ไม่เข้าใจอยู่ดี) พร้อมกับชื่นชมดอกไม้และอุปกรณ์การปรุงชาที่เจ้าภาพอุตส่าห์เตรียม... ซาบซึ้ง
พอเจ้าภาพปรากฏตัวออกมาต้อนรับ แขกจะทักทายและพูดคุยเรื่องต่างๆ ถ้าเป็นพิธีเต็มรูปแบบ แขกจะถามโน่นถามนี่ เช่น ถ้วยชาได้มาจากไหน ศิลปะนี้เป็นยังไง ข้อความที่เขียนไว้มีความหมายเชิงลึกว่ายังไง ซึ่งล้วนแต่เป็นคำถามเชิงดื่มด่ำรสศิลปะและปรัชญา จากนั้นแขกจะนั่งรอการชงชาอยู่ในท่าเทพธิดาซึ่งภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “เซซะ” (正座; seiza) การนั่งในท่านี้ต้องนั่งทับขาสองข้างเป็นเวลานาน ก่อนที่ลิ้นจะได้รู้รสชา ขาผมจึงได้ลิ้มรสเหน็บชาไปเสียก่อน
พิธีที่ผมเคยผ่านเป็นของสำนักอุระเซ็งเกะทั้ง 3 ครั้ง ประมวลความจากครูสอนพิธีชาได้ว่า อุปกรณ์แต่ละอย่างในพิธีมีความหมาย เช่น น้ำที่จะต้มคือสัญลักษณ์แทนหยิน ส่วนไฟที่ใช้ต้มน้ำคือหยาง มีเย็นกับร้อนเติมเต็มกัน และเสียงน้ำที่เดือดอยู่ในกาคือสัญลักษณ์แทนลมที่พัดปะทะต้นสน เป็นต้น เมื่อต้มน้ำจนเดือดแล้ว เจ้าของงานจะตักผงชามัตชะใส่ถ้วย เอาน้ำร้อนใส่ ใช้ไม้ไผ่ปลายแฉก ซึ่งเรียกว่า “ชะเซ็ง” (茶筅;chasen) ตีชาให้ละลายเข้ากับน้ำร้อนจนได้ที่ ในระหว่างนี้บรรดามนุษย์ที่อยู่ในท่าเทพธิดาจะจับจ้องการชงชาไปด้วยจนกว่าชาจะพร้อม
ก่อนดื่มชา เจ้าภาพจะเสิร์ฟขนม คงต้องยอมรับตามตรงว่าเป็นขนมที่ไม่อร่อยนัก หวานจัดเหมือนได้กัดก้อนน้ำตาล แต่ต่อมาก็ได้รู้ว่านั่นคือความหวานแบบจงใจ หวานเข้าไว้เพื่อให้ติดลิ้น เอาไว้สู้กับความขมของมัตชะ และการจะหยิบขนมหวานขึ้นมากินก็มีพิธีรีตอง ต้องค่อยๆ เอื้อม ทำความเคารพคนข้างๆ บอกเขาว่า “ขอหยิบก่อนนะ” คนข้างๆ จะต้องโค้งให้สัญญาณตอบว่า “เชิญเลย” ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนครบคน ทุกขั้นเป็นไปอย่างเนิบช้ากว่าจะได้ขนม ตอนจะรับชามาดื่มก็เช่นกัน ต้องขอบคุณ ขออนุญาต หมุนถ้วยให้ด้านหน้า (ส่วนใหญ่เป็นด้านที่มีลาย) หันออกจากตัวแล้วจึงดื่มได้ ดื่มเสร็จแล้วต้องเช็ดขอบถ้วย หมุนถ้วยกลับ แล้ววางถ้วยคืน
เหล่านี้คือขั้นตอนคร่าวๆ ที่ถ่ายทอดมาแต่โบราณ เอกสารประกอบการสาธิตที่ผมได้รับมาบอกว่า การรับขนมมี 9 ขั้นตอน การรับชาจนกระทั่งดื่มเสร็จมี 15 ขั้นตอน ขั้นตอนมากขนาดนี้มีหรือที่คนต่างชาติอย่างผมจะจำได้ ทำให้รู้สึกด้วยว่า ‘แหม คนญี่ปุ่นกับคนไทยมีอะไรที่เหมือนกันอีกแล้ว คือ ถ้าอยากสร้างความขลังให้กับสิ่งใด ก็จะใส่พิธีรีตองลงไปให้เยอะๆ เข้าไว้’ และนอกจากจะจำไม่ได้แล้ว ยังไพล่คิดไปอีกว่า ‘นี่แหละนะ สมกับเป็นญี่ปุ่น...เจ้าแห่งขั้นตอน’
เมื่อจำไม่ได้ พอผมไปทีไร จึงให้ครูสอนใหม่ทุกที สำหรับขั้นตอนทั้งหลาย ครูถ่ายทอดให้ฟังด้วยว่า แต่ละช่วงการปฏิบัติที่ค่อยเป็นค่อยไป ล้วนตั้งอยู่ในความสงบและความสำรวมซึ่งก่อให้เกิดสติ นอกจากนี้ การขออนุญาต การแสดงความขอบคุณ และความเคารพต่อผู้อื่น คือการฝึกจิตให้ละความถือตัว สิ่งเหล่านี้นี่เองที่เป็นนัยสำคัญของพิธีชา
ในการไปร่วมพิธีครั้งแรก ความประทับใจที่เกิดขึ้นคือ พอยกถ้วยขึ้นจิบแล้วลิ้นได้แตะน้ำชาซึ่งมาจากพิธีที่ไม่มีน้ำตาเทียนเหมือนน้ำมนต์ของไทย ผมสัมผัสได้ถึงความนุ่มของรสชาติชาเมื่อความหวานที่อวลอยู่ในปากปะทะกับความขมแล้วผสมออกมาเป็นความกลมกล่อม และอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิธีการดื่มคือ ขณะที่ละเลียดจิบ ห้ามดื่มหมดเกลี้ยง ต้องเหลือติดก้นถ้วยไว้นิดหน่อย
ครูบอกว่า น้ำชาก้นถ้วยคือน้ำชามารยาท เหลือไว้สำหรับสูดแรงๆ พรวดเดียวเข้าปากไป เพื่อทำให้เกิดเสียงดัง “จ๊วบ” จนเจ้าของงานได้ยิน อันเป็นการสื่อความว่า ‘อ้าาห์! ฉันดื่มหมดจนหยดสุดท้ายจริงๆ นะ’ โดยไม่ต้องใช้คำพูด แต่ใช้กิริยาสื่อออกมาแทน
ทั้งหมดนี้คือรสชาติชาเขียวแบบญี่ปุ่นที่สกัดออกมาจากพิธีชา ซึ่งคนญี่ปุ่นบอกว่า ไม่ใช่รสชาติธรรมดาที่ใช้ลิ้นสัมผัสอย่างเดียว แต่เป็นรสชาติทางใจที่ลึกซึ้ง ในแง่หนึ่ง น้ำชากับพิธีก็คือกุศโลบายสำหรับถ่ายทอดคุณธรรมของคนญี่ปุ่น จากการที่ผ่านพิธีชามา 3 ครั้ง ยอมรับว่าพิธีนี้ทำให้เกิดความสงบทางใจ และทำให้ได้เรียนรู้ประสบการณ์หวานอมขมกลืน ทั้งในความหมายตามตัวอักษร และในความหมายเชิงสำนวนด้านความอดทน ทว่าจนกระทั่งบัดนี้ คงต้องยอมรับอีกเช่นกันว่า ผ่านมา 3 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ชินที่ขาชา แม้ว่าชินชารสขมแล้วก็ตาม
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th