เลือดของมนุษย์เป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ยังสร้างไม่ได้ การขาดแคลนเลือดจึงเกิดขึ้นทุกประเทศ กาชาดญี่ปุ่นได้จูงใจให้คนมาบริจาคเลือดด้วยบรรยากาศที่อบอุ่น พยาบาลสวย และขนมอร่อย จนแทบลืมความกลัวจากปลายเข็ม
“ครอส คาเฟ่ ” คือศูนย์รับบริจาคเลือดของกาชาดญี่ปุ่น ที่มีบรรยากาศอบอุ่นราวกับร้านกาแฟร้านขนม จนแทบลืมว่ามา “เจ็บตัวเสียเลือด” ภายในมีเก้าอี้โซฟานั่งสบาย พร้อมมุมอ่านหนังสือหรือเล่นอินเตอร์เน็ต รวมทั้งมีเครื่องดื่มต่างๆจากตู้อัตโนมัติ ให้ผู้ที่มาบริจาคเลือดพักผ่อนอย่างสบายทั้งระหว่างรอและหลังจากบริจาคเลือดแล้ว
ขั้นตอนการบริจาคเลือดที่ญี่ปุ่นไม่แตกต่างจากที่ประเทศไทย เพียงแต่การตรวจสอบรายละเอียดด้านสุขภาพทำผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์และเป็นภาษาญี่ปุ่น ชาวต่างชาติที่สื่อสารภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ จึงอาจถูกปฏิเสธไม่ให้บริจาคเลือดได้
การคัดกรองก่อนบริจาคเลือดก็คล้ายกับของไทย เช่น ไม่มีประวัติการใช้ยาเสพติด, พฤติกรรมทางเพศที่สุ่มเสี่ยง หรือเดินทางไปประเทศที่มีความเสี่ยงเรื่องเชื้อโรคในเลือด แต่รายละเอียดจะค่อนข้างมากกว่าของไทย เช่น จะต้องกลับจากการเดินทางไปต่างประเทศไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์ รวมทั้งบันทึกประวัติเดินทางไปต่างประเทศในรอบครึ่งปี เป็นต้น
ในขั้นตอนนี้ ผู้บริจาคเลือดจะได้รับบัตรประจำตัว ที่มีการบันทึกลายนิ้วมือและรหัสลับส่วนตัวที่ตั้งขึ้นเอง เพื่อใช้ยืนยันตัวตนในการบริจาคครั้งต่อๆไป
หลังจากบันทึกประวัติเบื้องต้นแล้ว ผู้บริจาคเลือดจะได้รับบัตรคิว ระหว่างนี้สามารถพักผ่อนและเลือกดื่มเครื่องดื่มตามอัธยาศัย โดยเมื่อถึงคิวก็จะได้รับสัญญาณแจ้งเตือนผ่านเครื่องอัตโนมัติ
“พยาบาลสวยลืมเจ็บ!”
เมื่อถึงคิวที่ได้รับ ผู้บริจาคเลือดจะได้พบกับแพทย์เพื่อตรวจสอบประวัติสุขภาพอีกครั้ง โดยวัดความดันและความเข้มข้นของเลือด ก่อนที่จะได้รับเชิญไปเอนกายบนเตียงที่โอ่โถงราวกับเก้าอี้ชั้นเฟิร์สคลาสบนเครื่องบิน
เมื่อขึ้นนอนบนเก้าอี้แล้ว พยาบาลสาวจะบอกให้ผ่อนคลายโดยสามารถเลือกชมโทรทัศน์จอเล็กที่ติดตั้งไว้ปลายเตียงตามสะดวก พยาบาลญี่ปุ่นเอาใจใส่อย่างมาก โดยจะบอกขั้นตอนต่างๆตลอด เช่น “จะใช้แอลกอฮอร์เช็ดนะคะ” “กำลังจะแทงเข็มนะคะ” “เชิญผ่อนคลายตามสบาย” “จะถอนเข็มนะคะ” เป็นต้น
การบริจาคเลือดแต่ละครั้งจะเก็บเลือดราว 400 มิลลิลิตร และใช้เวลาราว 15-20 นาที หลังเสร็จสิ้นผู้บริจาคสามารถพักผ่อน และเลือกทานขนม,ไอศกรีม หรือเครื่องดื่มต่างๆ ได้ฟรีตามอัธยาศัย
ญี่ปุ่นใช้เลือดเพื่อคนป่วย มากกว่าอุบัติเหตุ
กาชาดญี่ปุ่น ระบุว่า เลือดที่ได้รับบริจาคถูกนำไปใช้สำหรับผู้ป่วยที่ต้องถ่ายเลือดเป็นประจำ เช่น ผู้ป่วยโรคเลือด,มะเร็ง, หรือทารกที่มีปัญหาเมื่อแรกเกิด โดยคิดเป็นสัดส่วนราว 83.2% ส่วนการใช้เลือดเพื่ออุบัติเหตุนั้นมีเพียง 3.5% เท่านั้น
นอกจากนี้ ตัวอย่างเลือดบางส่วนยังถูกใช้เพื่อการวิจัยป้องกันโรค และพัฒนาวัคซีนด้วย
จูงใจหนุ่มสาวให้บริจาคเลือด
ที่ญี่ปุ่นถึงแม้จะใช้เลือดเพื่ออุบัติเหตุน้อยกว่าประเทศไทย แต่มีผู้สูงอายุที่ต้องถ่ายเลือดจำนวนมาก ขณะที่จำนวนผู้บริจาคเลือดกลับลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับ 15 ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ 69% ของผู้บริจาคเลือดยังบริจาคเพียงแค่ปีละ 1ครั้งเท่านั้น ญี่ปุ่นจึงมีปัญหาขาดแคลนเลือดเช่นเดียวกัน ทางกาชาดญี่ปุ่นจึงพยายามรณรงค์ให้คนหนุ่มสาวช่วยกันบริจาคเลือดอย่างสม่ำเสมอ
กาชาดญี่ปุ่นไม่เพียงตกแต่งสถานที่รับบริจาคเลือดให้มีบรรยากาศจูงใจเท่านั้น แต่ยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษสำหรับกลุ่มผู้ที่บริจาคเลือดเป็นประจำ ทั้งดนตรี, โยคะ, งานฝีมือ หรือการบรรยายความรู้ต่างๆ
ผู้บริจาคเลือดทุกคนยังจะได้รับการตรวจสุขภาพเบื้องต้นฟรี โดยผลตรวจ เช่น ระดับคอเลสเตอรอล, น้ำตาล, สารเคมีในเลือด รวมทั้งความสมบูรณ์ของเลือด จะส่งผลทางไปรษณีย์ไปยังที่อยู่ของผู้บริจาค
ถึงแม้ชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะไม่มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์บริจาคเลือดที่ญี่ปุ่น หากแต่สถานที่แปลกตา,พยาบาลสาวสวย หรือขนมอร่อย เป็นเพียงแรงจูงใจเท่านั้น การเสียสละเพื่อผู้อื่น โดยเฉพาะการแบ่งปันชีวิต เป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ซึ่งทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกก็ทำได้เช่นเดียวกัน.