xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นรุกเสนอขายอาวุธให้กองทัพไทย หวังกระชับสัมพันธ์รัฐบาล-ลดอิทธิพลจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากเว็บไซต์ kawasaki.com
MGR Online - รัฐบาลโตเกียวรุกกระชับสัมพันธ์รัฐบาลทหารไทย เตรียมเสนอสัญญาซื้อขายเครื่องบินตรวจการณ์ - ปราบเรือดำน้ำ กับ เครื่องบินกู้ภัยทางทะเล มุ่งหวังลดอิทธิพลจีนที่เพิ่มสูงขึ้นหลังรัฐประหารปี 57

วานนี้ (2 มิ.ย.) เว็บไซต์นิกเคอิของญี่ปุ่น รายงานว่า แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือระบุว่ารัฐบาลโตเกียวกำลังพิจารณาสัญญาการซื้อขายยุทโธปกรณ์ทางการทหารให้กับกองทัพไทย รวมถึงความร่วมมือทางเทคโนโลยี โดยทางไทยให้ความสนใจเครื่องบินตรวจการณ์ - ปราบเรือดำน้ำคาวาซากิ พี-1 (Kawasaki P-1) เครื่องบินกู้ภัยทางทะเลแบบ ชินเมวา ยูเอส-2 (ShinMaywa US-2)

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของญี่ปุ่น แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลโตเกียวกำลังพยายามเข้าแทรกตัวระหว่างรัฐบาลปักกิ่ง กับรัฐบาลทหารไทย ที่ดูค่อนข้างแน่นแฟ้น ซึ่งการเสนอขายยุทโธปกรณ์ทางการทหารดังกล่าว ก็น่าจะเป็นหมากสำคัญในเกมดังกล่าว โดยเกน นากาตานิ รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น เปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา ว่า เขาจะเข้าพบกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยที่กรุงเทพฯ เพื่อพูดคุยถึงเรื่องนี้

สำหรับการลงนามในสัญญาซื้อขายจะต้องทำให้เสร็จก่อนการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ออกจากญี่ปุ่น โดยไทยและญี่ปุ่นจะต้องผูกสัมพันธ์กันก่อนจะเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือใช้งานยุทโธปกรณ์ดังกล่าว

รายงานชิ้นดังกล่าวยังระบุด้วยว่า บ.คาวาซากิ เฮฟวี อินดัสตรี และ เอ็นอีซี ได้เข้าร่วมงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ Defense&Security 2015 ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 โดยในงานดังกล่าว พล.อ.ประวิตร ได้เข้าเยี่ยมชมงานด้วย
ภาพจากเว็บไซต์ shinmaywa.co.jp
ทั้งนี้ เครื่องบินตรวจการณ์ - ปราบเรือดำน้ำ พี-1 นั้น ผลิตโดยบริษัท คาวาซากิ ส่วนเครื่องบินกู้ภัยทางทะเล ยูเอส-2 นั้น ผลิตโดยบริษัท ชินเมวา ซึ่งมีการตั้งสาขาอยู่ในประเทศไทย ในนาม บ.ไทยชินเมวา จำกัด ด้วย โดยเครื่องบินรุ่น ยูเอส-2 นี้ มีจุดเด่นคือ สามารถลงจอดในทะเล สามารถทำความเร็วต่ำ และมีพิสัยการบินไกล โดยนอกจากไทยแล้ว ญี่ปุ่นก็กำลังเจรจาขายเครื่องบินรุ่นนี้ให้กับอินเดียด้วยเช่นกัน

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ ญี่ปุ่นมีสัญญาส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหาร และถ่ายทอดเทคโนโลยีการป้องกันประเทศอยู่แล้วกับประเทศฟิลิปปินส์ โดยญี่ปุ่นให้ฟิลิปปินส์เช่าเครื่องบินฝึก ทีซี-90 (TC-90) เพื่อภารกิจในการค้นหาและกู้ภัยเมื่อเกิดภัยพิบัติ การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม รวมไปถึงภารกิจในการแจ้งเตือนและตรวจการณ์ด้วย ขณะเดียวกัน นอกจากขยับเข้ามาผูกสัมพันธ์ทางการทหารกับไทยแล้ว ญี่ปุ่นจะยื่นข้อเสนอเจรจาตกลงคล้าย ๆ กันกับมาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ด้วย

หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นต้นมา รัฐบาลสหรัฐฯ และยุโรป ก็ส่งสัญญาณที่ไม่เป็นมิตรกับรัฐบาลทหารของไทยมาตลอด ขณะที่ญี่ปุ่นคำนึงว่าจีนจะใช้โอกาสดังกล่าวนี้เข้ามาเพิ่มอิทธิพลในภูมิภาคนี้ โดยเจ้าหน้าที่ทหารของญี่ปุ่นวิเคราะห์ว่า จีนกำลังเข้าแทรกแซงความสัมพันธ์ในหมู่สมาชิกของชาติอาเซียน โดยมีเดิมพันเป็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาติสมาชิกอาเซียนบางประเทศ

ญี่ปุ่นต้องก้าวข้ามอุปสรรคอีกมากมายในการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ทางการทหารไปยังประเทศอื่น โดยเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ก็เพิ่งแพ้สัญญาการซื้อขายเรือดำน้ำให้กองทัพออสเตรเลียให้กับเรือดำน้ำจากฝรั่งเศส โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นระบุว่าความพ่ายแพ้เกิดจากการขาดประสบการณ์ทางการตลาด

ชมคลิปเครื่องบินตรวจการณ์ - ปราบเรือดำน้ำคาวาซากิ พี-1 (Kawasaki P-1) ที่ญี่ปุ่นหวังเสนอขายให้กองทัพไทย


ชมคลิปเครื่องบินกู้ภัยทางทะเลแบบ ชินเมวา ยูเอส-2 (ShinMaywa US-2)

กำลังโหลดความคิดเห็น