ถึงแม้การประชุมผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม หรือ G7 ที่ญี่ปุ่น จะมุ่งประเด็นเรื่องเศรษฐกิจโลก หากแต่คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากการประชุมครั้งนี้ คือ ประธานาธิบดี บารัค โอบามา และ นายกฯชินโซ อะเบะ
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนแรกที่เยือนฮิโรชิมาในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง โดยสุนทรพจน์ที่ผู้นำสหรัฐฯกล่าวที่ฮิโรชิมะกลายเป็นหัวข่าวใหญ่ในญี่ปุ่น และสร้างความประทับใจให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก
โอบามา กล่าวว่า “ความตายร่วงหล่นลงจากฟากฟ้า และโลกได้ถูกเปลี่ยนแปลงไป
วันหนึ่ง เสียงของเหล่าผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูจะไม่อยู่เป็นสักขีพยานกับเราอีกต่อไป แต่ความทรงจำของเช้าวันที่ 6 สิงหาคม ปี 2488 ต้องไม่จางหาย
คนในหมู่ชาติต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ ที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองต้องมีความหาญกล้าเพื่อหลีกหนีตรรกะแห่งความหวาดกลัว และมุ่งสร้างโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์
ฮิโรชิมา และ นางาซากิ ควรเป็นจุดเริ่มต้นของการตื่นรู้ทางศีลธรรมของมวลมนุษยชาติ”
การเดินทางเยือนฮิโรชิมะของผู้นำสหรัฐฯมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากภายในสหรัฐฯเองมีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและคัดค้าน ทั้งที่เห็นว่าการทิ้งระเบิดโจมตีญี่ปุ่น คือ ความโหดร้าย และกลุ่มที่คิดว่าระเบิดปรมาณูได้ทำให้สงครามโลกยุติลง และรักษาชีวิตชาวโลกไว้มากมาย
สื่อมวลชนญี่ปุ่นวิเคราะห์ว่า การเยือนฮิโรชิมาคือ “การตัดสินใจชั้นเซียน” ของโอบามา เพราะนอกจากจะเสริมภาพลักษณ์ที่เขาเคยได้รับรางวัลโนเบล สันติภาพแล้ว ยังหวังผลกระทบชิ่งไปถึงศึกเลือกประธานาธิบดี และตอกย้ำภาพลักษณ์ก้าวร้าวบ้าบิ่นของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งจากพรรครีพับบลิกัน
โลกไร้นิวเคลียร์...ฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง
สหรัฐฯเป็นประเทศเดียวที่เคยใช้อาวุธนิวเคลียร์ และญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่ถูกทำลายล้างจากระเบิดปรมาณู แต่วันนี้ญี่ปุ่นและสหรัฐฯแปรเปลี่ยน “ศัตรู” กลายเป็น “พันธมิตร” และความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ สหรัฐฯ คือ ผู้ที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก ส่วนญี่ปุ่นเองก็ต้องก็พึ่งพาการป้องกันประเทศด้วยนิวเคลียร์
โอบามาได้ปิดฉากการเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯอย่างน่าประทับใจจากการเยือนญี่ปุ่นในครั้งนี้ และยังได้ประโยชน์ทางการเมืองภายในประเทศด้วย หากแต่ “โลกที่ไร้อาวุธนิวเคลียร์” ตามที่เขากล่าวอ้างนั้นคงเป็นฝันที่ไม่มีวันเป็นจริง
อะเบะยืมมือเวที G7 หวังชนะศึกเลือกตั้ง
ตั้งแต่อดีตการประชุมผู้นำโลก ถูกมองว่า เป็นโอกาสในการแสดงผลงานความสำเร็จของประเทศเจ้าภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกใน 8 ปีที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น และจะมีขึ้นก่อนหน้าการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในกลางปีนี้
ในปี 1986 นายยะซุฮิโระ นะกะโซะเนะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ยุบสภาผู้แทนราษฎรและให้มีการเลือกตั้งสมาชิกของทั้ง 2 สภา ไม่นานหลังจากที่มีการประชุมสุดยอดที่กรุงโตเกียว เขาเน้นย้ำถึงผลงานทางการทูต และชนะการเลือกตั้งครั้งนั้นอย่างถล่มทลาย ซึ่งนายอะเบะก็กำลังจะเดินตามรอยเช่นเดียวกัน
นายอะเบะ ยังได้ใช้เวที G7 เรียกคืนความเชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจ “อะเบะโนมิกส์” โดยเรียกร้องให้ประเทศมหาอำนาจอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถึงแม้เยอรมนีและอังกฤษจะไม่สนับสนุน แต่ผู้นำญี่ปุ่นก็สามารถใช้เป็นข้ออ้างได้ในการผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่ “ตั้งธง” เอาไว้แล้ว เช่น การเลื่อนขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกำหนดการเดิมในปีหน้า