ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในจังหวัดคุมะโมะโตะของญี่ปุ่นกว่า 1แสนคนยังเผชิญชีวิตที่ยากลำบาก ขณะที่ระบบคมนาคมทั้งรถไฟชินคันเซนและเครื่องบินเริ่มกลับมาให้บริการได้บางส่วนแล้ว
บรรดาผู้ประสบภัยที่ภัยอยู่ที่โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดคุมะโมะโตะนำเก้าอี้กว่า 200 ตัวมาเรียงกันเป็นข้อความว่า “ SOS กระดาษชำระ, ขนมปัง, น้ำ” เพื่อหวังให้เฮลิคอปเตอร์ที่บินตระเวนอยู่เหนือพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวได้เห็น และหยิบยื่นความช่วยเหลือตามที่ร้องขอ โดยที่โรงเรียนแห่งนี้มีชาวบ้านมาพักอาศัยหนีภัยมากกว่า 400 คน
ทีมกู้ภัยและค้นหาผู้รอดชีวิตยังคงปฏิบัติการค้นหาต่อไปในบริเวณหมู่บ้านแถบภูเขาแห่งหนึ่ง โดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 48 คนจากแผ่นดินไหวหลายระลอก และอีก 3 คนที่ยังไม่ทราบชะตากรรม ส่วนผู้บาดเจ็บมีมากกว่า 1,000 คน
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ลำบากที่สุดน่าจะเป็นผู้รอดชีวิตหลายคนได้หลบหนีออกจากบ้านเรือนกว่า 100,000 คนที่กำลังอาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราวจนแออัด และทำให้หลายพันคนต้องใช้รถยนต์เป็นที่พักชั่วคราว แต่เนื่องจากความคับแคบทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า Economy Class Syndrome หรือ เลือดคั่งในหลอดเลือดดำส่วนลึก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ขา เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะที่เคลื่อนไหวได้อย่างจำกัด
อาการที่เกิดขึ้นคือ กล้ามเนื้อเหน็บชาจนอาจเป็นตะคริวหรือเคลื่อนไหวไม่ได้ชั่วคราว รวมทั้งอาจหายใจติดขัด เจ็บหน้าอก และมีปัญหาการหายใจเนื่องจากภายในรถอากาศหมุนเวียนไม่ดี
เจ้าหน้าที่ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตหนึ่งรายจากอาการดังกล่าว ขณะที่มีบุคคลอื่นอีก 10 คนเสียชีวิตหลังจากอพยพจากอาการป่วยและความยากลำบากในชีวิตหลังเผชิญภัยพิบัติ
ระบบคมนาคมเริ่มฟื้นฟู แต่น้ำ,ไฟ ,แก๊ส ยังไม่มี
รถไฟหัวกระสุนชินคันเซนกลับมาให้บริการได้บางส่วนในวันพุธที่ 20 เมษายน โดยสามารถเดินรถได้ตั้งแต่สถานีชิน มินะมาตะในจังฟวัดคุมะโมะโตะ จนถึงสถานีคาโกชิมะ ชูโอ ในจังหวัดคาโกชิมะ จำนวน 16เที่ยวต่อวัน อย่างไรก็ตามชุมทางหลักที่สถานีฮากะตะ ในจังหวัดฟูกุโอกะยังไม่สามารถเดินรถได้
ขณะที่สนามบินคุมะโมะโตะสามารถเปิดให้บริการอีกครั้งหลังต้องปิดไป 3วันเพราะได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว สายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ และเจแปน แอร์ไลน์ ได้ให้บริการเที่ยวบินจากคุมะโมะโตะถึงกรุงโตเกียวและนครโอซากา
เช่นเดียวกับสายการบินโลว์คอส แอร์ไลน์ ภายในประเทศญี่ปุ่นก็ทยอยกลับมาให้บริการจากสนามบินคุมะโมะโตะไปยังพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่เมื่อวานนี้
อย่างไรก็ตาม ในหลายพื้นที่ยังไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา และแก๊สใช้ ทำให้ประชาชนพบกับความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ขณะที่สถานดูแลผู้สูงอายุ และโรงพยาบาลบางแห่ง แม้จะมีที่ว่าง แต่ก็ไม่สามารถรับผู้สูงอายุเข้าเพิ่มอีก เนื่องจากน้ำประปาและแก๊สยังคงถูกตัด นอกจากนี้ยังประสบปัญหาขาดแคลนเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะผู้พยาบาลดูแลบางส่วนไม่สามารถกลับมาทำงานได้ หรือเหนื่อยล้าจากการเดินทางไกลมาจากที่หลบภัย.