xs
xsm
sm
md
lg

“อ่านแล้ว” เบื้องหลังฟังก์ชันสุดปวดใจของ LINE

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อ่านแล้ว” เป็นฟังก์ชันหนึ่งของผู้ใช้โปรแกรมแชทยอดนิยม LINE ที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับหลายคน เพราะคู่สนทนาอ่านแล้วแต่ไม่ตอบ หากแต่เบื้องหลังเรื่องนี้มีที่มาซึ่งแสดงถึงความสำคัญของฟังก์ชันนี้

LINE โปรแกรมแชทจากญี่ปุ่นกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญในทุกวันนี้ หากแต่ฟังก์ชันหนึ่งที่สร้างความขุ่นเคืองและเจ็บปวดให้กับหลายคน คือ “อ่านแล้ว” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อคู่สนทนาได้อ่านข้อความ แต่กลับไม่มีคำตอบใดๆ

ผู้ใช้งาน LINE จำนวนหนึ่งเคยร้องขอให้ทางบริษัทเจ้าของโปรแกรมลดทอนฟังก์ชัน “อ่านแล้ว” โดยอ้างว่าสร้างความกดดันในการสื่อสาร หากแต่เหตุใดบริษัทญี่ปุ่นที่เอาใจใส่เรื่องความรู้สึกของลูกค้าจึงคิดว่าจำเป็นต้องมีฟังก์ชั่นนี้ ?

ถึงแม้บริษัทเจ้าของโปรแกรม LINE จะไม่เคยเผยถึงเหตุผล หากแต่ในโลกออนไลน์ของญี่ปุ่นได้เผยแพร่เรื่องราวเบื้องหลังของฟังก์ชั่น “อ่านแล้ว”

ในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถล่มญี่ปุ่นเมื่อ 5ปีก่อน ระบบสื่อสารในพื้นที่ประสบภัยมีปัญหาอย่างหนัก แต่เมื่อเห็นข้อความ “อ่านแล้ว” จึงรู้ได้ว่าคนที่รักและครอบครัวยังปลอดภัยและมีชีวิตรอด สามารถเห็นข้อความที่ส่งไปได้ แต่ยังอาจไม่สามารถตอบกลับได้ในทันที

ในเหตุการณ์ระหว่างความเป็นความตาย การได้รู้ว่าคนที่รักปลอดภัยเป็นความสุขใจอย่างยิ่ง และไม่มีใครคิดว่าทำไม “อ่านแล้วไม่ตอบ”?

หากแต่ทุกวันนี้ หลายคนกลับกลัดกลุ้มกับการถูก “อ่านแล้วไม่ตอบ” ซึ่งแท้จริงแล้ว ความเจ็บปวดนี้ไม่ได้เกิดจากตัวฟังก์ชั่นของ LINE แต่เกิดจากความคิดที่ว่า อ่านแล้วไม่ตอบคือไม่ให้ความสำคัญหรือกระทั่งไม่รักไม่ชอบ จึงทำใจยอมรับไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน ไม่ใช่ปัญหาของโปรแกรมสื่อสาร

ในอดีต จดหมายที่ไม่มีคำตอบหรือโทรศัพท์ที่ไม่มีคนรับสายก็เคยสร้างความปวดใจให้กับใครหลายคน ทุกวันนี้การสื่อสารรวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส การตัดสินความสัมพันธ์เพียงเพราะคำว่า “อ่านแล้ว” สะท้อนถึงโลกออนไลน์ที่ทำให้คนเราใกล้กันมากขึ้น หากแต่ความสัมพันธ์กลับเปราะบางลงทุกขณะ.
กำลังโหลดความคิดเห็น