xs
xsm
sm
md
lg

Money Tips : ทำไมบริษัทญี่ปุ่นยังคงเชื่อมั่นในประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยพัชรพงศ์ ลิมปนะเวช
ทีมจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง

ฮิโรชิ ยาคาเมะ Regional Head of the Greater Mekong Sub-Region, and Country Head of Thailand, Sumitomo Mitsui Banking Corp. บอกว่า ....แม้ว่าประเทศไทยจะเผชิญภาวะวิกฤตทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา แต่ประเทศญี่ปุ่นยังคงมีสัดส่วนการลงทุนในประเทศไทยเป็นลำดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
    
ทั้งนี้ หากเราดูข้อมูลย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2011-2013 จะพบว่าบริษัทญี่ปุ่นยื่นขอ BOI คิดเป็นสัดส่วนถึง 49% 58% และ 54% จากยอดขอส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดตามลำดับ นอกจากนี้ เม็ดเงินลงทุนในประเทศไทยจากญี่ปุ่นนั้นมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศจีน (ข้อมูลเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา)
    
ข้อมูลจากแบบสอบถามในช่วงหลายปีที่ผ่านมาบ่งบอกว่ายอดขายของบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยนั้นคิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของ GDP ประเทศไทย ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซียนั้นมีสัดส่วนดังกล่าวเพียง 10% เท่านั้น ซึ่งตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกถึงความสำคัญของบริษัทญี่ปุ่นต่อประเทศไทย
    
นับตั้งแต่หอการค้าญี่ปุ่นได้ถูกจัดตั้งขึ้นในกรุงเทพฯ และมีบริษัทญี่ปุ่นเป็นสมาชิกเพียง 30 รายในปี 1954 การลงทุนจากญี่ปุ่นในไทยได้เติบโตขึ้นมาโดยตลอด แม้ว่าระหว่างทางจะเกิดการรัฐประหารขึ้นหลายครั้งรวมถึงครั้งล่าสุดในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจนทำให้การเติบโตสะดุดลงเล็กน้อยก็ตาม แต่สิ่งที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นยังคงเลือกที่จะลงทุนในประเทศไทย แม้ว่าจะเกิดปัญหาทางการเมืองหลายครั้ง มีดังนี้
    
1. ภาครัฐมีนโยบายและกฎระเบียบที่ให้ความสำคัญต่อการลงทุนจากต่างประเทศ
    
2. คสช.ได้เน้นมาตรการดูแลความสงบและความปลอดภัยมากขึ้นตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร
    
3. โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ไฟฟ้า ถนน และนิคมอุตสาหกรรมได้ถูกพัฒนาและดูแลเป็นอย่างดี
    
4. กฎหมายที่เกี่ยวกับการลงทุนจากต่างประเทศมีความโปร่งใส
    
5. ประเทศไทยกำลังค่อยๆ เข้าสู่การเป็นตลาดการบริโภคขนาดใหญ่ได้ด้วยกำลังของตัวเอง
    
6. บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่ง โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ได้สร้างระบบ Supply Chain ที่ครอบคลุมทั้งระบบ
    
7. ที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ใจกลางประเทศเศรษฐกิจกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขงและมีความได้เปรียบทั้งในแง่ภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ
    
อดีตและอนาคต
    
ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา (ก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร) หอการค้าญี่ปุ่นได้ทำแบบสอบถามกับบริษัทสมาชิกว่ามีความกังวลกับปัจจัยใดมากที่สุด ผลสำรวจพบว่า บริษัทสมาชิกราว 40% มีความกังวลเกี่ยวกับการเดินประท้วงตามถนนที่ยืดเยื้อ รวมถึงความไม่แน่นอนของการเมืองไทย
    
ทั้งนี้ ในอดีตบริษัทญี่ปุ่นจะมีความกังวลกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมากกว่าไทย แต่ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าสัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีความกังวลต่อประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เทียบกับแบบสอบถามในประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม
    
อย่างไรก็ตาม จากแบบสอบถามครั้งล่าสุดในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าบริษัทญี่ปุ่นมีความกังวลต่อการเมืองไทยที่ลดลง เนื่องจาก คสช.ได้แสดงความชัดเจนว่าจะช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการเร่งผลักดันโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านบาท และผลักดันงบประมาณประจำปี
    
ดังนั้น การหดตัวลงเล็กน้อยของเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมาจึงเป็นการชะลอเพียงชั่วคราวจากการเดินประท้วงก่อนหน้านี้เท่านั้น แต่การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังประเทศอื่นๆ ก็มีส่วนเช่นกัน โดยแม้ว่าผลแบบสอบถามจะจัดอันดับให้ประเทศอินโดนีเซียและอินเดียต่ำกว่าไทยในแง่ของความมั่นคงทางการเมือง แต่ทั้งสองประเทศก็มีศักยภาพที่จะเป็นคู่แข่งของไทยได้ อย่างไรก็ตาม ในการตอบแบบสอบถามเมื่อปลายปี 2013 พบว่าประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าสนใจแม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนทางการเมืองสูง
    
ปัจจัยนอกเหนือจากการเมือง  

โดยสรุปแล้ว ประเทศไทยยังคงมีความน่าสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศ แต่ก็มีความท้าทายใหม่ๆ ต่อการเติบโตเช่นกัน เช่น การก้าวข้าม “กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) ดังนั้น นโยบายที่จะช่วยส่งเสริมและผลักดันกลุ่มคนรายได้ปานกลาง เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการค้าเสรีจึงมีความสำคัญ เพื่อทำให้เกิดนวัตกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง
    
การผลักดันนโยบายรวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดังกล่าวนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปการคลัง (Fiscal Reform) เช่น นโยบายภาษีที่จะต้องมีความสมดุล นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ในประเทศกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้มีความได้เปรียบในการขนส่งสินค้าต่างๆ ไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าว โดยล่าสุด คสช.ได้อนุมัติแผนที่จะก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่งใกล้กับชายแดน ได้แก่ แม่สอด จ.ตาก สะเดา จ.สงขลา คลองลึก จ.สระแก้ว และ คลองใหญ่ จ.ตราด แล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น