ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ครูภาษาญี่ปุ่นสำหรับเด็กต่างชาติ
เมื่อสองสามปีก่อน ตอนผมไปร้านขายสินค้าไทยที่ย่านโอกุโบะในกรุงโตเกียว บังเอิญได้เจอลูกศิษย์คนไทยที่เคยสอนตั้งแต่เด็กคนนี้มาเรียนในโรงเรียนประถมของญี่ปุ่น เจอคราวนี้ลูกศิษย์อยู่มัธยมปลายและตัวสูงกว่าผมมากจนจำไม่ได้ พ่อแม่ของเด็กคนนี้เป็นเจ้าของกิจการร้านขายสินค้าไทย และพอผมไปที่ร้านเดียวกันอีกเมื่อไม่นานมานี้เพื่อจะไปถามสารทุกข์สุกดิบของลูกศิษย์ ปรากฏว่าแกไปเรียนที่อังกฤษแล้ว ใจหนึ่งก็เข้าใจการตัดสินใจทั้งของเด็กและของผู้ปกครองเกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งผมคาดว่ามีอุปสรรคเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่น แต่ใจหนึ่งก็นึกเสียดายที่เด็กไม่ได้เรียนต่อที่ญี่ปุ่น พลอยทำให้ผมนึกย้อนถึงความหลังเมื่อครั้งที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับการศึกษาของญี่ปุ่นในระดับประถมขึ้นมา
ปัจจุบันผมเป็นอาจารย์สอนประจำอยู่ในมหาวิทยาลัย แต่เมื่อหลายปีมาแล้ว งานอย่างหนึ่งที่เคยทำคือ การสอนภาษาญี่ปุ่นชั้นต้นให้แก่เด็กประถมที่เป็นลูกของคนต่างชาติ นั่นถือเป็นงานที่น่าภาคภูมิใจอย่างหนึ่งและรู้สึกดีใจที่มีคนเรียกว่า “เซ็นเซ” เพราะการได้เป็น “เซ็นเซ” ซึ่งแปลว่า “ครู” หรือ “อาจารย์” ในสังคมญี่ปุ่นถือว่ามีเกียรติ และคำว่า “เซ็นเซ” (先生;sensē) นอกจากใช้เรียกบุคลากรที่สอนหนังสือแล้ว ยังใช้เรียกแพทย์ สมาชิกรัฐสภา นักเขียน และทนายความด้วย น่าเลื่อมใสกันทั้งนั้น (ผมเคยเขียนเกี่ยวกับ “เซ็นเซ” ในอีกแง่มุมหนึ่งไว้ในบทความ สะดุดคำ “เพราะเกิดก่อนจึงสอนได้”)
อยู่ที่ญี่ปุ่นซึ่งไม่ใช่บ้านเกิด (แต่เป็นเมืองนอน) แล้วได้รับการยกย่องขนาดมีคนเรียกว่า “เซ็นเซ” ย่อมเป็นความภูมิใจ ผู้ใหญ่ญี่ปุ่นเคยพูดกับผมว่า “ในบรรดาคนทั้งหลายที่เราจะต้องจ้างเขา แต่เรายังจะต้องขอบคุณเขาด้วย มีไม่เท่าไร หมอก็อย่างหนึ่งละ แล้วก็มีครูอีกอย่างหนึ่ง” คิดๆ ไปก็เห็นจริงตามนั้น จึงอดไม่ได้ที่จะรู้สึกดีกับหน้าที่นี้ แต่สิ่งที่ได้รับมานั้นคือเกียรติ หรือว่ามี ‘เกลียด’ พ่วงมาด้วย อันนี้ยังไม่เคย (กล้า) ถามลูกศิษย์
หากจะว่าไป แม้ตอนนี้ผมเป็นเซ็นเซสอนเด็กโตในระดับมหาวิทยาลัย แต่โอกาสที่ทำให้ได้เห็นบรรยากาศพื้นฐานการศึกษาที่แท้จริงของญี่ปุ่นมากกว่าคือ การได้สอนเด็กเล็กในโรงเรียนประถมของญี่ปุ่น ตอนนั้นถึงจะเหนื่อยบ้าง วิ่งไม่ทันเด็กบ้าง แต่ก็เป็นความทุกข์ที่มีความสนุกคละเคล้ากันไป และทำให้ได้รู้ว่าเด็กประถมญี่ปุ่นท่องสูตรคูณถึงแค่แม่เก้า แต่ละแม่ก็คูณแค่เก้า คือ 9 x 9 = 81 จบ และยังเรียนหนังสือน้อยชั่วโมงกว่าเด็กไทย ...แต่ เอ๊ะ? ทำไม เราพัฒนาช้ากว่า?
งานที่ผมทำตอนนั้นคือเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่นในสังกัดคณะกรรมการการศึกษาเขตชินจุกุ ไม่ได้สอนแบบประจำวิชาหรือประจำชั้น แต่ทำในลักษณะครูพี่เลี้ยงผู้คอยประกบนักเรียนที่เพิ่งมาญี่ปุ่นและไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่น พร้อมทั้งสอนภาษาญี่ปุ่นให้ด้วย ในสหรัฐอเมริกามีการสอนภาษาอังกฤษแบบที่เรียกว่า ESL (English as a Second Language) หรือการสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองให้แก่คนต่างชาติ (ที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่) แต่ที่ญี่ปุ่นการสอนภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่สองอย่างเป็นกิจจะลักษณะนั้นไม่มี ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เมื่อคนต่างชาติเพิ่มจำนวน เด็กต่างชาติที่ติดตามพ่อแม่มา (หรือจริงๆ แล้วคือถูกพ่อแม่เอาตัวมา) หรือเด็กต่างชาติที่เกิดในญี่ปุ่นแต่ไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นก็เพิ่มจำนวนขึ้นด้วย ถ้าสื่อสารไม่เข้าใจไปเรื่อยๆ ย่อมเป็นปัญหา ศึกษาเล่าเรียนไม่ได้ ต่อไปทำมาหากินไม่ได้ กลายเป็นภาระสังคมในที่สุด
เขตชินจุกุเป็นเขตที่มีคนต่างชาติอยู่มาก เด็กต่างชาติจึงมากไปด้วย คณะกรรมการการศึกษาของเขตเห็นว่าไม่ได้การละ...คงจะต้องทำอะไรสักอย่าง จึงวางโครงการสอนภาษาญี่ปุ่นเป็นพิเศษแล้วหาครูมาสอน บุคลากรคนหนึ่งของโครงการก็คือผมซึ่งรับผิดชอบสอนภาษาญี่ปุ่นให้แก่เด็กที่เข้าใจภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ
ลูกศิษย์คนที่ผมไปหานั้น คือเด็กต่างชาติที่มาเรียนในญี่ปุ่นเมื่ออายุประมาณ 10 ขวบหลังจากที่พ่อแม่มาตั้งรกรากทำธุรกิจในญี่ปุ่นจนประสบความสำเร็จแล้ว แต่เด็กไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่น ผมจึงมีโอกาสได้ไปสอนแกในตอนนั้น ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่เรียนยากสำหรับคนไทย ในเบื้องต้นเด็กอาจเรียนรู้ทำความเข้าใจได้ในระดับชีวิตประจำวัน แต่เมื่อลงลึกถึงระดับวิชาการ ปรากฏว่าเด็กไทยมักจะเรียนตามคนญี่ปุ่นไม่ทันแม้จะผ่านไปหลายปีก็ตาม และจะประสบปัญหาตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย บังเอิญว่าครอบครัวของเด็กคนนี้มีศักยภาพพอจะที่ส่งลูกไปเรียนที่อื่นได้ เด็กจึงย้ายไปเรียนที่อังกฤษเมื่อโตแล้ว
ภูมิหลังกับบรรยากาศการเรียน
ก่อนจะเล่าถึงบรรยากาศการเรียนของนักเรียนประถมในญี่ปุ่น ผมควรกล่าวถึงประวัติศาสตร์การศึกษาของญี่ปุ่นไว้โดยสังเขปเพื่อให้เห็นพัฒนาการ
ญี่ปุ่นมีทรัพยากรธรรมชาติน้อย ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคงจะเป็นทรัพยากรมนุษย์ การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่เสริมให้ทรัพยากรมนุษย์มีคุณภาพ แต่ก็ได้ทำให้สังคมญี่ปุ่นกลายเป็น “กะกุเระกิ-ชะไก” (学歴社会;gakureki-shakai) หรือสังคมที่ยึดถือภูมิหลังทางการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ในแง่การอ่านและเขียน ถือได้ว่าการศึกษาของญี่ปุ่นเริ่มขึ้นเมื่อรับอักษรจีนเข้ามาใช้ราวศตวรรษที่ 6 ผู้ที่ได้รับการศึกษาก่อน คือ ชนชั้นสูงในราชสำนักสมัยนะระ (奈良;Nara; พ.ศ. 1235-1337) และสมัยเฮอัง (平安; Hēan; พ.ศ. 1337-1728) วัดคือโรงเรียน พระคือครูคนแรกๆ ต่อมาในสมัยคะมะกุระ (鎌倉; Kamakura; พ.ศ. 1728-1876) การศึกษาแพร่ไปสู่ชนชั้นนักรบพร้อมกับพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่เจริญขึ้น
เมื่อมาถึงสมัยเอะโดะ (江戸;Edo;พ.ศ. 2143 - 2411) การศึกษากลายเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีโรงเรียนที่เรียกว่า “เทะระโกะยะ” (寺子屋;terakoya) หรือ “ร้านเด็กวัด” แต่ก็ไม่ใช่วัดเสมอไป อาจเป็นบ้านของซะมุไร หรือบ้านคนทั่วไป ยุคนั้นชนชั้นพ่อค้าเริ่มมีโครงสร้างเข้มแข็งขึ้นในสังคม การอ่านออกเขียนได้จึงจำเป็นสำหรับการทำธุรกิจให้ราบรื่น บรรยากาศด้านการศึกษาได้ส่งให้เทะระโกะยะเฟื่องฟูขึ้นโดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างเกียวโต เอะโดะ (โตเกียว) โอซะกะ (โอซาก้า) ลูกของครอบครัวคนทั่วไปทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงสามารถเข้าเรียนได้ มีพระหรือซะมุไรเป็นผู้สอน ไม่มีสถิติที่แน่ชัดว่ามีเด็กเข้าเรียนเท่าไร แต่ประเมินว่าในเมืองใหญ่มีอัตราเข้าเรียนสูงถึง 60 – 70% นอกจากวิชาการอ่านการเขียนซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานแล้ว ยังมีการสอนใช้ลูกคิด ประวัติศาสตร์ เย็บปักถักร้อย การศึกษาของญี่ปุ่นแพร่หลายมากขึ้นและก้าวหน้าในแบบของตัวเองอย่างมาก ในสมัยนั้นมีสูตรคำนวณวงกลมแบบญี่ปุ่นกันแล้ว คือ เส้นรอบวง = รัศมี x รัศมี x 0.07962, พื้นที่ = เส้นรอบวง x เส้นรอบวง x 0.785 ไม่ได้ใช้พายเหมือนปัจจุบัน ผมลองคำนวณเทียบดูปรากฏว่าได้ผลลัพธ์ต่างจากสูตรปัจจุบันแค่นิดเดียว
พอขึ้นสมัยเมจิ (明治;Meiji ; พ.ศ. 2411 – 2455) การศึกษาเริ่มกลายเป็นระบบโรงเรียนที่ใกล้เคียงกับในปัจจุบัน ทางการวางระบบการศึกษาสมัยใหม่โดยได้รับความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาชาวอเมริกัน เมื่อปี 2428 มีการกำหนดการศึกษาภาคบังคับครั้งแรกไว้ที่ 4 ปี พอปี 2450 ปรับเป็น 6 ปี ช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเปลี่ยนโครงสร้างวิชาให้ส่งเสริมความจงรักภักดีต่อจักรพรรดิ และสอดแทรกแนวคิดแบบจักรวรรดินิยมลงไปด้วย
ปี 2488 ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นการศึกษาจึงถูกรื้อโครงสร้างเสียใหม่ ปรับให้เป็นการศึกษาที่สอนให้รู้จักดำรงตนอย่างสันติ โดยออกกฎหมายแม่บทด้านการศึกษาปี 2490 แล้วการศึกษาภาคบังคับก็ขยายเป็น 9 ปีจนจบมัธยมต้น (มัธยมปลายไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ) ในกฎหมายแม่บท หลักบัญญัติที่สำคัญ คือ เสรีภาพทางการศึกษา (มาตรา 23) โอกาสที่เท่าเทียมกันทางการศึกษา (มาตรา 26 วรรค 1) สิทธิในการรับการศึกษาภาคบังคับโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (มาตรา 26 วรรค 2) การแบ่งแยกศาสนาออกจากรัฐ (มาตรา 20) อ่านดูแล้วอาจรู้สึกว่าคล้ายกับของที่ไหนสักแห่ง แต่จะแปลกใจไปไย ก็ในเมื่อสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ชนะส่งคณะที่ปรึกษาไปช่วยจัดระบบเสียใหม่ หลักใหญ่ใจความจึงเป็นไปตามการศึกษาของสหรัฐฯ
มาถึงตรงนี้คงพอมองออกว่าการพัฒนาเป็นเรื่องของการสะสม ญี่ปุ่นมีทั้งการสะสมทุนเชิงเศรษฐศาสตร์และทุนมนุษย์มาก่อนไทย ไทยมีพระราชบัญญัติประถมศึกษาฉบับแรกเมื่อ พ.ศ.2464 แต่ญี่ปุ่นมีมาก่อนไทยหลายปี คนญี่ปุ่นมีนิสัยชอบเรียนรู้ บรรยากาศด้านการเรียนก็เข้มข้นมาตั้งแต่โบราณ ลูกชาวบ้านของญี่ปุ่นได้เรียนหนังสือก่อนลูกชาวบ้านของไทยมานาน ในสมัยเอะโดะมีห้องสมุดให้ยืมอ่านนิยายกันแล้ว ประมาณการณ์กันว่า ช่วงปลายสมัยเอะโดะต่อสมัยเมจิ ประชากรญี่ปุ่นมีระดับการศึกษาดีกว่าหลายประเทศของโลกตะวันตกเสียอีก เหล่านี้เป็นคำตอบได้ส่วนหนึ่งว่าทำไมญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศพัฒนาก่อนใครในเอเชีย
จำนวนปีของการศึกษาสายสามัญในญี่ปุ่นก็เหมือนกับของไทยคือ ประถม 6 ปี มัธยมต้น 3 ปี มัธยมปลาย 3 ปี ปริญญาตรี 4 ปี ปริญญาโท 2 ปี ปริญญาเอก 3 ปี โรงเรียนอนุบาลไม่รวมอยู่ในการศึกษาภาคบังคับ แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ส่งลูกไปเรียนอยู่ดีเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนในชั้นประถม
โรงเรียนในญี่ปุ่นมี 3 ประเภท คือ โรงเรียนรัฐสังกัดรัฐบาลกลาง โรงเรียนรัฐสังกัดทางการท้องถิ่น (เขต จังหวัด เป็นต้น) และของเอกเชน พอเด็กอายุ 6 ขวบก็เข้าเรียน ป.1 เด็กญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไปโรงเรียนรัฐที่อยู่ในละแวกบ้าน นักเรียนประถมโรงเรียนรัฐไม่ต้องแต่งเครื่องแบบ (แต่มีชุดพละตามที่โรงเรียนกำหนด) ครูก็ไม่ต้องใส่เครื่องแบบ ไม่มีการเข้าแถวเคารพธงชาติ ไม่ร้องเพลงชาติตอนเช้า ไม่มีการสวดมนต์ ไม่มีการเฆี่ยนตีด้วยไม้เรียว ในหนึ่งสัปดาห์อาจมีการประชุมเช้าบ้างแล้วแต่โรงเรียน ห้องหนึ่งมีนักเรียนประมาณ 45 คนหรือต่ำกว่า โรงเรียนญี่ปุ่นทั้งประถมและมัธยมเรียนเป็นระบบ 3 ภาค
ภาคที่ 1 ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ถึง กลางเดือนกรกฎาคม
ภาคที่ 2 ปลายเดือนสิงหาคม ถึง สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธันวาคม
ภาคที่ 3 ต้นเดือนมกราคม ถึง สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคม
สำหรับการปิดภาคก็มี 3 ครั้ง คือ ฤดูร้อน (หลังภาคที่ 1) ฤดูหนาว (หลังภาคที่ 2) และฤดูใบไม้ผลิ (หลังภาคที่ 3)
เวลาเรียนในแต่ละวันของเด็กประถมญี่ปุ่นสั้นกว่าของเด็กไทย ตอนเช้าเริ่มเรียนประมาณ 8 โมงกว่า หนึ่งวิชาใช้เวลา 45 นาที พอจบก็จะมีพักเล็ก 5 นาที หรือพักใหญ่ 10 – 20 นาที พอเที่ยงกว่าๆ จะเป็นเวลาอาหารกลางวัน เรียกว่า “คีวโชะกุ” (給食;kyūshoku) ซึ่งโรงเรียนประถมจะจัดให้เด็ก ไม่มีโรงอาหารให้เด็กซื้อกินเอง พอถึงภาคบ่าย เรียนอีกไม่เท่าไรก็เลิก โรงเรียนประถมเลิกประมาณสองโมงครึ่ง หรือสามโมงครึ่งแล้วแต่วัน เมื่อเลิกแล้วเด็กก็ ‘เดิน’ กลับบ้าน รัฐบาลญี่ปุ่นสำรวจและสรุปผลการใช้เวลาของนักเรียนประถมในปี 2549 ใน 1 วันไว้ดังนี้ [1] คือ นอน 9 ชั่วโมง 1 นาที, เรียน 4 ชั่วโมง 41 นาที, เบ็ดเตล็ด 3 ชั่วโมง 27 นาที, ว่าง 6 ชั่วโมง 51 นาที
ชั่วโมงเรียนของเด็กญี่ปุ่นในแต่ละวันแลดูน้อยกว่าของเด็กไทย แต่เมื่อมองจำนวนวันแล้วจะเห็นได้ว่าเรียนตั้ง 3 เทอม ...อ้อ นี่หรือเปล่าคือคำตอบอีกส่วนหนึ่งว่าทำไมญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้ากว่าไทยทั้งๆ ที่เริ่มปรับประเทศให้ทันสมัยในเวลาใกล้เคียงกัน คือ สมัยรัชกาลที่ 5 ของไทยกับสมัยเมจิของญี่ปุ่น?
วิชาที่นักเรียนประถมทุกระดับเรียนคือ ภาษาประจำชาติ เลข ดนตรี ศิลปะ และพละ เป็นที่น่าสังเกตว่าโรงเรียนญี่ปุ่นทั่วประเทศตั้งแต่ ป.1 ถึง ม. 6 ไม่สอนวิชา ‘ภาษาญี่ปุ่น’ ผมเคยถามเพื่อนญี่ปุ่นรุ่นเดียวกันว่าตอนเด็กๆ เรียนวิชาภาษาญี่ปุ่นอาทิตย์ละกี่ชั่วโมง
เพื่อนทำหน้างงเล็กน้อยเพราะผมใช้ภาษาผิด เพื่อนบอกว่าคนญี่ปุ่น “ไม่เรียนภาษาญี่ปุ่น” แต่เรียน “โคะกุโงะ” (国語;kokugo) หรือวิชาภาษาประจำชาติ ซึ่งจริงๆ แล้วก็คือการเรียนภาษาญี่ปุ่นนั่นแหละ แต่เพื่อนขยายความว่าวิชาภาษาญี่ปุ่นคือวิชาที่คนต่างชาติ (อย่างผม) เรียนเพื่อใช้สื่อสาร ส่วนการเรียนภาษาประจำชาติของคนญี่ปุ่นคือการเรียนให้ซึมลงไปลึกๆ เพื่อดำรงตนอยู่ในบริบทสังคมญี่ปุ่น...อืม คนญี่ปุ่นอนุญาตให้เราเรียนแค่ภาษาญี่ปุ่นแต่ไม่ยอมให้เรียนภาษาประจำชาติของเขาแฮะ
นอกจากวิชาหลักเหล่านี้แล้ว สำหรับเด็กประถมยังมีวิชาสังคม (การดำรงชีวิต) ของ ป.1 – ป.2, วิชาสังคมและวิชาวิทยาศาสตร์ ของ ป.3 – ป.6, วิชาครัวเรือนของ ป.5 – ป. 6 และมีกิจกรรมพิเศษแล้วแต่โรงเรียนจะจัด เช่น ชมรม งานโรงเรียน แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม แสดงดนตรี วิชาเกี่ยวกับศาสนามีเฉพาะในโรงเรียนเอกชน สำหรับภาษาอังกฤษนั้น เดิมไม่มีอยู่ในหลักสูตรประถม เด็กจะเริ่มเรียนเมื่อขึ้นมัธยม แต่คนญี่ปุ่นรู้สึกว่าเรียนตั้ง 6 ปีจนจบมัธยมปลาย คนญี่ปุ่นก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้หรือได้ไม่ดี เมื่อปี 2554 จึงให้เด็กเริ่มเรียนตั้งแต่ ป.5
ครูประจำชั้นโรงเรียนประถม สอนเกือบทุกวิชา ยกเว้นวิชาเฉพาะทางมากๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี ผมเคยย่องไปสังเกตการณ์วิชาดนตรีอยู่บ่อยๆ และรู้สึกประทับใจมาก ใครที่คิดว่าญี่ปุ่นส่งเสริมการอนุรักษ์วัฒนธรรมโดยสอนดนตรีดั้งเดิมประเภทเป่าขลุ่ย หรือให้ดีดชะมิเซ็งอย่างที่โกโบริดีดในเรื่องคู่กรรมละก็ ขอบอกว่าคิดผิด เด็กญี่ปุ่นเรียนดนตรีโดยมีเปียโนเป็นสื่อการเรียน และขอย้ำว่านี่เรากำลังพูดถึงโรงเรียนรัฐบาล ความรู้สึกที่เกิดขึ้นทันทีที่ได้ทราบคือ “นี่แหละนะ ประเทศที่รวยแล้ว...เขามีเงินซื้อเครื่องดนตรีแพงๆ” เปียโนคือเครื่องดนตรีหลักในการสอนดนตรีของโรงเรียนญี่ปุ่น จึงเป็นกฎไปโดยปริยายว่า ครูดนตรีของญี่ปุ่นทุกคนต้องดีดเปียโนเป็น ในห้องดนตรีจะมีเปียโนอยู่หนึ่งหลัง ครูใช้สอนให้เด็กร้องเพลงเป็น อ่านโน้ตเป็น เทียบระดับเสียงเป็น ผมคิดว่าอาจเป็นเพราะเหตุนี้ เด็กญี่ปุ่นจึงมีพื้นฐานด้านดนตรีสากลดีกว่าเด็กไทย และนักร้องญี่ปุ่นที่แต่งเพลงให้ตัวเองด้วยก็มีมากกว่าของไทย เช่น เค็น ฮิไร, อะยุมิ ฮะมะซะกิ และอีกมากมายหลายคน
หมายเหตุ :
[1] สำรวจจากเด็กอายุ 10 ปี ขึ้นไป และเบ็ดเตล็ด หมายถึง กิจกรรมอื่น ๆ เช่น เวลาอาหาร อาบน้ำ
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th