xs
xsm
sm
md
lg

“จักรของแม่ ศิลปะเย็บปักผ้าของฉัน” ยามีล๊ะ หะยี ศิลปินหญิงวัย 24 ปี จากนราธิวาส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ART EYE VIEW---จากการที่ได้สนทนากับ ยามีล๊ะ หะยี คำบอกเล่าของเธอเกี่ยวกับตัวเองบางช่วงตอน ทำให้นึกไปถึงคำกล่าวของ อังคาร กัลยาณพงศ์ จิตรกรกวีผู้ล่วงลับที่ว่า “ความทุกข์เจียรไนยมนุษย์”

แม้จะไม่สามารถสรุปได้ว่าชีวิตของนักศึกษาศิลปะวัยเพียง 24 ปี จากจังหวัดนราธิวาส คนนี้ ได้ผ่านการเจียรไนยมามากพอจนมีเหลี่ยมมุมอันงดงาม พร้อมที่จะเป็นเพชรพลอยในสายตาคนอื่นๆได้แล้วหรือยัง

บททดสอบของพระผู้เป็นเจ้า

หลายปีมาแล้วจนถึงเวลานี้ ยามีล๊ะเป็นอีกคนที่ได้เปลี่ยน ความทุกข์ อุปสรรค และปมด้อย ที่ตัวเองมี ให้กลายเป็นเครื่องเจียรไนย หรือบททดสอบชีวิต

เพราะนอกจากจะเกิดมาในครอบครัวของชาวมุสลิมที่มีฐานะยากจน ในบรรดา 4 คนพี่น้อง ยามีล๊ะยังเป็นลูกเพียงคนเดียวที่เกิดมาพร้อมกับความพิการ มีนิ้วมือไม่ครบทั้งสองข้าง

แม้จะดูเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความพิการของผู้พิการคนอื่นๆ แต่ก็ทำเคยให้ยามีล๊ะผู้เคยถูกเพื่อนที่โรงเรียนล้อ ต้องกลับมาร้องไห้ที่บ้านบ่อยครั้ง

เมื่อโตพอที่จะทำความเข้าใจกับปมด้อยของตัวเอง และค้นพบว่าตัวเองมีความสุขกับการทำงานศิลปะ เธอจึงคิดผลักดันตัวเองเพื่อเอาดีทางด้านนี้ให้ได้ ส่วนหนึ่งเพราะต้องการจะลบปมด้อยที่มีด้วย

“เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เรามีแรงผลักดัน อยากต่อสู้ชีวิต หนูเชื่อว่าสิ่งนี้คือบททดสอบของพระผู้เป็นเจ้าอย่างหนึ่ง ทดสอบว่าจิตใจเราเข้มแข็งไม๊ กับการใช้ชีวิตอยู่บนบนโลกใบนี้”

แม้ครอบครัวไม่มีเงินส่งให้เรียน แต่ยามีล๊ะก็ไม่ละความพยายาม สร้างผลงานด้วยการวาดรูป พร้อมเขียนเรียงความเกี่ยวกับตัวเอง แล้วเขียนจดหมายถวายฎีกาขอความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

กระทั่งได้รับความช่วยเหลือให้ได้รับทุนจาก โครงการทุนอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้าไปเรียนต่อที่ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

"ข้อดีของการที่เราขาดอะไรไป ทำให้เราต้องสู้ชีวิต ดิ้นรนมาก มีภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง ความลำบากก็มีข้อดี ถ้าเรามีทุกอย่างพร้อมแล้ว เราจะไม่พยายามดิ้นรน"



จากภาพวาดมัสยิด สู่ศิลปะการเย็บปักผ้า

ผลงานศิลปะของยามีล๊ะในช่วงแรกๆ ยังคงเป็นภาพวาดด้วยสีอะคริลิคและสีน้ำมัน บ้างก็วาดให้เป็นรูปทรงของสถาปัตยกรรม เช่น มัสยิด ยังไม่ได้เปลี่ยนมาเป็นศิลปะการเย็บปักผ้า ดังเช่นปัจจุบัน

“ช่วงนั้นก็ยังชอบเพ้นท์อยู่เหมือนกัน ก็เลยทำงานเพ้นท์ไปก่อน กระทั่งตอนอยู่ปี 3 อาจารย์ให้เราค้นหาความเป็นตัวเรา ว่าเราอยากทำอะไรที่เป็นตัวเรามากที่สุด”

ทำให้ยามีล๊ะได้หันกลับไปมองสิ่งที่เคยเป็นอุปกรณ์หาเลี้ยงชีพของครอบครัว

“ด้วยความที่เมื่อก่อนทางบ้านทำอาชีพเกี่ยวกับการรับจ้างเย็บผ้าคลุมผม หรือ ฮิญาบ ส่งผ้าไปให้คนอื่นเย็บ ตอนเรียนอยู่ประถมหนูจะคลุกคลีอยู่บบรรยากาศเหล่านี้ แล้วตอนหนูอยู่ ป.6 แม่เริ่มที่จะมีจักรตัวนี้ เริ่มฝึกเย็บดอกไม้เย็บผ้าคลุม ทำให้หนูรู้สึกอยากลองบ้าง โดยก่อนหน้านี้หนูก็ชอบงานเย็บปักถักร้อยอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่ามันสามารถทำเป็นงานศิลปะได้

จำได้ว่าตอนนั้น หนูก็จะแย่งใช้จักรกับแม่ตลอดเลย ถ้าแม่เผลอไม่ได้เย็บผ้า หนูก็จะเล่นอยู่กับจักรตัวนี้ เล่นจนเข็มหักหลายอัน จนแม่บ่น

มีช่วงหนึ่งที่ภาวะเศรษฐกิจทำให้ การส่งผ้าให้คนเย็บตกต่ำ ส่งออกผ้าไม่ได้ ทำให้อาชีพนี้ของที่บ้านหายไป แล้วจักรก็ไม่ได้ใช้ติดต่อกันนานมากเลย

ตอนขึ้นปี 4 หนูจึงให้พ่อซ่อมพ่อจักรตัวนี้ให้ แล้วเริ่มทดลองทำงานชิ้นแรก ลองเล่นกับฝีจักร ความถี่ของการเย็บ แล้วเอาไปให้อาจารย์ดู อาจารย์ก็แนะนำต่อ ให้เราคิดว่า จะเอาเรื่องราวอะไรมานำเสนอผ่านงาน

หนูเลยเลือกเอาเรื่องที่ใกล้ตัวเราที่สุด ที่เราสามามารถเข้าใจลึกซึ้งกับมัน ก็เลยทำเกี่ยวกับเรื่องการละหมาด เพราะการละหมาดเป็นศาสนกิจที่เราต้องทำทุกวัน วันละ 5 เวลา ก็เลยเอาส่วนนี้มาทำงาน เอากิริยาท่าทางของคนขณะทำการละหมาดมาทำ มาเย็บ และทำเป็นงานศิลปนิพนธ์ก่อนจะจบปริญาตรี”

เช่นกันผลงานที่ทำให้เธอเป็นหนึ่งในนักศึกษาศิลปะที่ถูกคัดเลือกไปทัศนะศึกษาด้านศิลปะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังการไปเข้า ค่ายเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย ณ บ้านดำ จ.เชียงราย จัดโดย สำนักศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ก็คือผลงานที่สร้างสรรค์ด้วยเทคนิคเย็บปักผ้าเช่นกัน

“ทำเรื่องการละหมาดเหมือนกัน แต่เปลี่ยนรูปแบบการจัดวาง และตั้งชื่องานว่า... จิตวิญญาณแห่งความศรัทธา”

รวมไปถึงการได้รับรางวัลน้อยใหญ่จากหลายเวทีประกวดอื่นๆอีกหลายครั้ง อาทิ กสิกรไทย,กระทรวงศึกษาธิการ,ศิลปกรรมรุ่นเยาว์ ,รางวัลเหรียญเงิน ศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 59, รางวัลเหรียญทองแดง ศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 60 ฯลฯ

โดยในเวทีประกวดของ กระทรวงศึกษาธิการ หัวข้อ “ครู” ยามิล๊ะ เลือกที่จะให้งานศิลปะเย็บปักของตัวเองนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ พ่อแม่คือครูคนแรกของลูก

  ขณะนี้ยามิล๊ะกำลังศึกษาในระดับปริญญาโท ที่ภาควิชาศิลปะไทย คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ในวันที่ ART EYE VIEW ไปพบเธอ ณ วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ได้ทราบว่า ยามิล๊ะ ได้ยกจักรของแม่ขึ้นรถไฟมาใช้ทำงานที่คณะด้วย ซึ่งยะมิล๊ะได้เล่าถึงแม่ของตัวเองให้ฟังว่า

“ส่วนใหญ่แม่จะเป็นแม่ที่ไม่ค่อยเอาใจลูก จะเป็นแม่ที่ดุๆ บ่นๆ มากกว่า บ่นเพราะอยากให้เราประพฤติตัวให้ดี สอนให้เราเข้มแข็งได้ด้วยตัวของเราเอง

แต่เวลาหนูทำงานศิลปะ นั่งเย็บผ้า หนูจะโทรศัพท์คุยกับแม่บ่อย แม่จะถามทุกข์สุขว่าเรียนเป็นยังไงบ้าง ทำงานชุดไหน ทำเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร เรื่องราวเดิมหรือเปล่า”

ขณะที่คนอื่นๆอาจจะเลือกใช้พู่กันจุ่มสีระบายลงไปบนผืนผ้าใบ ยามิล๊ะจะใช้ปลายเข็มแทนพู่กัน ใช้ด้ายสีต่างๆแทนสี ใช้ผ้าแทนผืนผ้าใบ เพื่อทำงานศิลปะของเธอ

ก่อนหน้านี้ในการทำงานศิลปะแต่ละครั้ง ยะมิล๊ะจะใช้ดินสอไขร่างภาพลงไปบนผืนผ้า แต่เมื่องานมีรายละเอียดมากขึ้น มีขนาดใหญ่ขึ้น มีเทคนิคการเย็บที่ยุ่งยากซับซ้อนขึ้น การทำเช่นเดิมทำให้ภาพที่ร่างไว้หายไปเมื่อนำผืนผ้าไปขึงกับสะดึง ปัจจุบันเธอจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีร่างภาพลงไปบนกระดาษ แล้วทำการถ่ายภาพ หลังจากนั้นนำภาพไปขยายลงบนกระดาษตามขนาดที่ต้องการ ก่อนจำนำผ้ามาวางทับและใช้จักรเย็บไปตามภาพที่ร่าง



ฝันออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับสตรีมุสลิม

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจหรือเรื่องราวที่เธอนำเสนอผ่านผลงานในปัจจุบัน ยามิล๊ะตอบว่า

“ตอนนี้เราได้ทบทวนตัวเองว่ายังไม่ดีพอ ในที่นี้คือ หนูอยากเรียนรู้ศาสนาให้ลึกซึ้ง เรียนรู้บทบัญญัติ หลักปฏิบัติให้เข้มข้น หนูไม่ได้เกิดจากครอบครัวที่เคร่งครัดศาสนา และไม่ได้เรียนศาสนาในระดับที่สูง

แต่ในฐานะที่เราเป็นมุสลิม เราต้องเก็บเกี่ยวความรู้เกี่ยวกับศาสนาของตัวเองให้เยอะเหมือนกัน

หนูอยากให้ตัวเองมีความรู้เกี่ยวกับศาสนากับการศึกษาวิชาสามัญของเราควบคู่กันไป ไม่อยากให้เราไปเน้นด้านสามัญอย่างเดียว จนลืมแก่นแท้ของเรา เพราะว่าถ้าเรามีศาสนาภายในจิตใจ จะทำให้เราไม่หลงทาง เดินไปในเส้นทางที่เที่ยงตรง หนูก็เลยเอาส่วนนี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน"

ซึ่งขณะนี้ยะมิล๊ะกำลังงสนใจเรื่องบทบาท และหลักปฏิบัติของสตรีมุสลิม โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกาย ไม่เพียงแต่จะนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงาน เธอยังมีความฝันจะออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับสตรีมุสลิมที่ถูกต้องตามหลักศาสนา เอาไว้ให้สตรีมุสลิมมีไว้เป็นแนวทางในการแต่งกาย

เธอเคยออกแบบและตัดเย็บเครื่องแต่งกายให้แม่และน้องสาวได้สวมใส่ในวันฮารีรายอ (วันเฉลิมฉลองในศาสนาอิสลามหลังการถือศีลอด) รวมถึงชุดของตัวเองสำหรับสวมใส่เพื่อนำเสนอผลงานโดยเฉพาะ



สตรีคือเบื้องหลังความสำเร็จของสังคม

“หนูอยากจะศึกษาหลักคำสอน บทบัญญัติ หลักปฏิบัติต่างๆที่ถูกต้องของมุสลิม เอาส่วนนี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานเอาศิลปะ แล้วนำศิลปะไปสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาอีกที

เมื่อก่อนหนูตั้งความฝันไว้เหมือนกันว่า อยากเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จ มานึกดูแล้ว เราแค่ตั้งเป้าไว้เพื่อให้เรามีความพยายาม เราไม่รู้ว่าเราจะได้เป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จหรือไม่

แต่ตอนนี้หนูมีความรู้สึกว่า เราอยากเป็นคนดีตามหลักศาสนาของเรา เพราะเรามีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าเราตายไปแล้ว สิ่งที่จะสามารถคงอยู่ก็คือคุณงามความดี

สิ่งนี้จึงคือสิ่งสูงสุดที่ทำให้หนูอยากนำเอาสิ่งที่หนูศึกษาเกี่ยวกับศาสนา มาบูรณาการกับการทำงานศิลปะ สิ่งที่หนูสนใจศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องการแต่งกาย แต่ยังสนใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสตรีมุสลิในสังคม บทบาทต่อครอบครัว เพราะว่าเราต้องมีความรู้ในส่วนนี้ ในอนาคตถ้าเรามีครอบครัว เราจะได้เอาส่วนนี้มาปรับใช้กับครอบครัวของเรา เพื่อที่เราจะได้สร้างความสงบสุขในชีวิตครอบครัว

สิ่งหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจจากที่หนูเคยอ่านจากในหนังสือ มีคีย์เวิร์ดหนึ่งที่หนูชอบมากคือ

บรรดาสตรีอุปมาดั่งเสาของประเทศ ถ้าสตรีในประเทศหนึ่งๆนั้นดี มีความประเสิรฐ ประเทศนั้นก็จะดีตามไปด้วย ถ้าหากว่าสตรีในประเทศหนึ่งๆนั้นไม่ดี ประเทศนั้นก็จะเสียหายไปด้วย

หรือแม้แต่คำกล่าวที่ว่า สตรีคือเบื้องหลังความสำเร็จของสังคม ถ้าเราปลูกฝังให้มีสตรีที่ดี ถ้าเกิดวันหนึ่งเขามีลูก เขาจะได้อบรมลูกๆเขาให้เป็นคนดีต่อไปเช่นกัน”
 
ให้หลักศาสนาคอยประคับประคองชีวิต

ดังนั้นข้างกายของยามิล๊ะจะมีหนังสือไว้สำหรับเปิดอ่านเพื่อทบทวนตัวเองอยู่เสมอ ขณะเดียวกันในโลกโซเชียลเธอก็ชอบที่จะโพสต์อะไรเกี่ยวกับศาสนาให้คนอื่นๆได้อ่านอยู่เรื่อยๆ ไม่ต่างจากหลายๆคนในศาสนาอื่นๆเมื่อซาบซึ้งกับหลักคำสอนบางอย่างของศาสนาตน หรืออยากเตือนตน

“เราไม่อยากห่างไกลจากสิ่งเหล่านี้ เราทำแล้วใจเรานิ่ง สงบ มันเหมือนเป็นการทบทวนจิตใจเรา ด้วยภาวะทางสังคมปัจจุบันที่จะมาดึงเราให้ไปลุ่มหลง ตอนนี้เราอาจจะสงบนิ่ง แต่สภาวะทางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง เราไม่รู้ว่าวันไหนมันจะดึงเราไปสู่กับสิ่งไม่ดี เราต้องการให้หลักศาสนาคอยประคับประคองตัวเรา”

เพราะเรา คือ สิ่งถูกสร้างที่พระเจ้า(Allah)ทรงทดสอบใจ
แท้จริงแล้ว(Allah)ทรงมองที่..ก้อนเนื้อ..ที่เรียกว่า ((((#หัวใจ)))) Al-hamdulillah ในสิ่งที่มี


หมายเหตุ

ล่าสุดผลงานชื่อ โลกของสตรีมุสลิม 2  ได้รับรางวัลเหรียญทองจิตรกรรมบัวหลวง ประเภทจิตรกรรมร่วมสมัย พร้อมเงินรางวัล 200,000 บาท และทุนทัศนศึกษางานศิลปะในต่างประเทศ

Text : อ้อย ป้อมสุวรรณ Photo : Aoy P.



ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น