xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลังโปรโมชั่นญี่ปุ่นทุ่มสุดตัว คว้าโครงการรถไฟด่วนในอินเดีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพ รอยเตอร์
รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอความช่วยเหลือทางการเงินแบบสุดพิเศษกับอินเดีย จนสามารถบรรลุข้อตกลงโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในอินเดีย กู้หน้าหลังจากพ่ายแพ้การประมูลโครงการในอินโดนีเซียให้กับประเทศจีน

นายกรัฐมนตรีชินโซ อะเบะได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงกับนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เพื่อใช้เทคโนโลยีรถไฟชินคันเซนสร้างรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 500กิโลเมตรเชื่อมระหว่างนครมุมไบและเมืองอาห์เมดาบัด เมืองอุตสาหกรรมทางตะวันตกของอินเดีย โดยคราวนี้รัฐบาลญี่ปุ่นทุ่มข้อเสนอพิเศษทางการเงินแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

รัฐบาลญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอพิเศษโดยให้ความช่วยเหลือเงินกู้สกุลเงินเยนครอบคลุมร้อยละ 80ของมูลค่าโครงการรถไฟความเร็วสูงในอินเดียที่มีมูลค่า 14,900ล้านดอลลาห์ นอกจากนี้ยังลดดอกเบี้ยจากปกติปีละ 1% เหลือเพียงแค่ 0.1% รวมทั้งยังยืดระยะเวลาใช้คืนเงินกู้จากปกติ 30 ปี เป็น 50 ปีด้วย

ข้อเสนอการเงินที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้กับอินเดียครั้งนี้แทบจะไม่เคยมีมาก่อน และเป็นการทุ่มสุดตัวเพื่อกู้หน้า หลังจากพ่ายแพ้การประมูลโครงการในอินโดนีเซียให้กับประเทศจีน และยังสะท้อนนโยบายของนายอะเบะที่เห็นจีนเป็นคู่แข่งตัวจริง
ภาพ รอยเตอร์
ต้องไม่แพ้จีนเป็นอันขาด!

รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามนำเสนอเทคโนโลยีรถไฟชินคันเซนให้กับหลายประเทศ โดยถึงแม้รถไฟของญี่ปุ่นจะมีความปลอดภัยสูงยิ่ง แต่ก็มีต้นทุนสูงเช่นกันทำให้จนถึงทุกวันนี้มีเพียงไต้หวันเท่านั้นที่ใช้เทคโนโลยีชินคันเซนของญี่ปุ่น

ความพ่ายแพ้ที่อินโดนีเซียสร้างความผิดหวังให้กับผู้นำญี่ปุ่น และเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลอย่างมาก เนื่องจากคาดไม่ถึงว่ารัฐบาลจีนจะใช้วิธีให้ความสนับสนุนทางการเงินแบบ “เจ้าบุญทุ่ม” เหตุครั้งนั้นทำให้ผู้นำญี่ปุ่นประกาศว่าจะแก้มือกู้หน้าให้จงได้

สื่อมวลชนญี่ปุ่นให้ข้อมูลว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงในอินเดียนั้นแรกเริ่มสำรวจโดยฝรั่งเศส แต่หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้ความช่วยเหลือทางการเงินแบบพิเศษจึงทำให้รัฐบาลอินเดียตกลงมอบโครงการให้กับฝ่ายญี่ปุ่น

ความสำเร็จในครั้งนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า “รัฐบาลฝรั่งเศสไม่อาจจะให้การสนับสนุนทางการเงินได้เท่ากับญี่ปุ่น โดยถึงแม้จะระดมเงินจากธนาคารโลกและธนาคารแห่งสหภาพยุโรป แต่รัฐบาลฝรั่งเศสก็ยากที่จะเกลี้ยกล่อมเพื่อให้ได้เงินกู้มา” นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังจะใช้รางรถไฟแบบพิเศษในการก่อสร้างในอินเดีย ซึ่งมีความปลอดภัยสูงกว่ารถไฟของฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับว่า คู่แข่งตัวจริง คือ ประเทศจีน เพราะขณะที่ญี่ปุ่นได้บรรลุข้อตกลงสร้างรถไฟในอินเดีย รัฐบาลจีนก็ได้เสนอสร้าง “มหาวิทยาลัยการรถไฟ” ให้กับอินเดีย ซึ่งจะทำให้บุคลากรของอินเดียคุ้นเคยกับเทคโนโลยีรถไฟของจีนมากกว่า

นอกจากนี้บริษัทรถไฟของจีนยังรับผิดชอบสำรวจการก่อสร้างรถไฟจากเมืองเดลีไปมุมไบ ระยะทาง 1750 กิโลเมตร ดังนั้นหากอินเดียใช้เทคโนโลยีชินคันเซนเพียงแค่เส้นทางเดียว ระยะทาง 500กิโลเมตร ชัยชนะของญี่ปุ่นครั้งนี้ก็แทบไม่มีความหมายอะไร
ซูซูกิ เจ้าตลาดรถยนต์ขนาดเล็ก
“ซูซูกิ” เบื้องหลังความสำเร็จตัวจริง

ชัยชนะในการคว้าโครงการรถไฟความเร็วสูงที่อินเดียเป็นเพียงปฐมบทในการบุกตลาดต่างประเทศของรถไฟชินคันเซนเท่านั้น เนื่องจากสิ่งที่ประเทศต่างๆต้องการไม่ใช่เพียงเทคโนโลยีชั้นสูง แต่รวมถึงการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศด้วย

สมาชิกรัฐสภาอินเดียที่เดินทางเยือนญี่ปุ่นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เปิดเผยเบื้องหลังว่า รัฐบาลอินเดียต้องการเรียนรู้บทเรียนความสำเร็จแบบเดียวกับที่บริษัทซูซูกิบุกตลาดรถในแดนภารตะ

ซูซูกิ มอเตอร์ เป็นผู้ผลิตรถยนต์ขนาดเล็กราว 660ซีซีในญี่ปุ่น และเริ่มทำตลาดในอินเดียเมื่อปี 2002 และจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจของอินเดีย โดยเน้นเฉพาะรถยนต์ขนาดเล็กราคาประหยัด จนสามารถครองสัดแบ่งตลาดได้มากถึง54% และกำไรจากธุรกิจในอินเดียเป็นสัดส่วนมากถึง 40%ของเครือบริษัทซูซูกิทั้งหมด

รถไฟชินคันเซนในอินเดียจะทำอย่างไรเพื่อให้ประสบความสำเร็จเหมือนซูซูกิ จึงเป็นสิ่งที่ไม่เพียงแต่รัฐบาลอินเดียคาดหวัง แต่ยังเป็นกุญแจสำคัญรัฐบาลญี่ปุ่นจะบุกตลาดต่างประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ระบุว่า ญี่ปุ่นไม่ชำนาญในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ เช่น โทรทัศน์ หรือรถยนต์ ล้วนแต่ไม่ใช่ญี่ปุ่นเป็นผู้คิดค้นขึ้น หากแต่ญี่ปุ่นชานาญในการปรับแต่งนวัตกรรมให้โดดเด่นและมีประโยชน์มากยิ่งขึ้น ทักษะในการประยุกต์และพัฒนาต่อยอดคือจิตวิญญาณของธุรกิจและชาวญี่ปุ่น.
กำลังโหลดความคิดเห็น