รัฐบาลญี่ปุ่นระบุกับรัฐมนตรีพาณิชย์ของไทยว่าพร้อมจะสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วมในข้อตกลงตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือTPP ที่สหรัฐฯเป็นผู้ริเริ่ม ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนให้รัฐบาลไทยศึกษาผลดีผลเสียให้รอบคอบ
สถานีโทรทัศน์ NHK รายงานว่า นายอะกิระ อะมะริ รัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่น ได้พบกับนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย ที่กรุงโตเกียวในวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน โดยระบุว่าไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรี TPP และรัฐบาลญี่ปุ่นพร้อมจะมอบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP
รัฐมนตรีพาณิชย์ของไทย ระบุว่าไทยกำลังศึกษาอย่างจริงจังถึงความเป็นไปได้ที่จะเข้าร่วม TPP และได้สอบถามนายอะมะริถึงข้อมูลว่าแต่ละประเทศที่เข้าร่วม TPP ต้องดำเนินการกับกระบวนการภายในประเทศอย่างไรเพื่อที่จะทำให้ข้อตกลง TPP มีผลบังคับใช้
นายอะมะริตอบว่าจะยังไม่มีการลงนามในข้อตกลง TPP จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ในปีหน้าเป็นอย่างเร็วที่สุด เนื่องจากการถกเถียงภายในสหรัฐฯ
ข้อตกลงตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือTPP ที่สหรัฐฯเป็นผู้ริเริ่มมีประเทศสมาชิก ได้แก่ บรูไน, ชิลี, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย, แคนาดา, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, เม็กซิโก, เปรู ,สหรัฐฯ และเวียดนาม โดยหวังจะสร้างเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยหลังจากเจรจายืดเยื้อนานถึง 7 ปี บรรดาชาติสมาชิกก็เพิ่งจะบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ในวันที่ 5 ตุลาคม ปีนี้
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่า TPP คือเขตการค้าเสรีที่สหรัฐฯมุ่งหวังจะสร้างขึ้นเพื่อกีดกันประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีข้อวิจารณ์เรื่องการปกป้องทรัพย์สินทางปัญหาอย่างรัดกุมเกินเหตุ, ความเสี่ยงที่จะทำให้ราคายาแพงขึ้น รวมถึงการลดภาษีที่จะทำให้ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมในหลายประเทศไม่สามารถอยู่รอดได้ ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าข้อตกลง TPP มีทั้งมิติเรื่องการค้าและการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งบรรดาประเทศที่หวังจะเข้าร่วมใน TPP ต้องไตร่ตรองให้รอบคอบ.