ภาคเอกชนมองการส่งออกไทยปี 59 มีลุ้นจะกลับมาพลิกเป็นโตได้ 2% จากปีนี้ที่คาดว่าจะติดลบ 4.93-5% โดยปัจจัยบวกเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวในหลายตลาด ทั้งอียู ญี่ปุ่น สหรัฐฯ แต่แนะเกาะติด 4 ปัจจัยเสี่ยง
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และรองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยตลอดปี 2558 คาดว่าจะติดลบประมาณ 4.93-5% ส่วนปี 2559 คาดว่าการส่งออกของไทยจะกลับมาเป็นบวกได้ที่ระดับ 2% โดยมีปัจจัยที่จะต้องติดตามใกล้ชิด 4 ปัจจัย ได้แก่ 1. การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนผันผวน 2. เศรษฐกิจจีนชะลอตัว 3. ภัยก่อการร้ายและการสู้รบในตะวันออกกลาง 4. ผลกระทบจากข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)
“การส่งออกของไทย 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค. 58) ติดลบ 5.32% โดยเฉลี่ยการส่งออกของไทยช่วง 2 เดือนสุดท้ายมองว่าจะติดลบเดือนละ 3% เมื่อรวมทั้งปีก็จะติดลบประมาณ 4.93-5% ก็เป็นไปตามกรอบที่ภาคส่งออกมองไว้ และไตรมาสแรกปี ’59 การส่งออกจะยังคงทรงๆ ตัวเช่นปลายปี แต่ทั้งปีคิดว่าจะไม่ติดลบและจะกลับมาโตได้ 2% จากปี 2558” นายวัลลภกล่าว
สำหรับปี 2559 ที่คาดว่าส่งออกจะมีโอกาสกลับมาเป็นบวกเนื่องจากเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้วโดยเฉพาะเศรษฐกิจในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) รวมถึงญี่ปุ่นที่น่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่สหรัฐอเมริกามีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนแต่อาจยังไม่มากนัก ส่วนจีนยอมรับว่ายังชะลอตัวอยู่ในปีหน้าจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญเนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ากับไทยถึง 11% ซึ่งหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวอาจมีผลต่อนโยบายค่าเงินหยวนอ่อนเพื่อที่จะส่งออกมากขึ้นจุดนี้ก็จะมาแย่งตลาดกันเอง
“ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ก็ต้องติดตามการขึ้นดอกเบี้ยเฟดว่าจะมีผลต่อความผันผวนค่าเงินแค่ไหน รวมถึงภัยก่อการร้ายที่จะฉุดความเชื่อมั่นการบริโภคในแถบยุโรปมากน้อยเพียงใด ซึ่งก็จะมีผลการส่งออกลดลงเช่นกันแม้เศรษฐกิจแถบนี้จะเริ่มฟื้นตัว รวมถึง TPP ซึ่งส่วนตัวมองว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจทันทีกับลูกค้าไทย จึงควรจะประกาศให้ชัดเจนถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยเห็นว่าไม่ว่าจะมีเขตการค้าอะไรเราก็ควรร่วมหมดหากเกรงปัญหาทางการเมือง” นายวัลลภกล่าว