ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
Tokyo University of Foreign Studies
Tokyo University of Foreign Studies
ชื่อเรียกยากูซ่า
ในชีวิตปกติของคนทั่วไปคงไม่มีใครอย่างข้องแวะกับ “ยากูซ่า” ซึ่งตามความเข้าใจของคนไทย ยากูซ่าก็คือมาเฟียญี่ปุ่น หรือนักเลงโตที่สร้างความเดือดร้อนและทำลายสวัสดิภาพชีวิตของผู้อื่น ผมเองก็ไม่เคยรู้จักยากูซ่าโดยตรง เส้นทางชีวิตที่เข้าใกล้ยากูซ่าที่สุดดูเหมือนจะเป็นตอนที่ไปย่านชินจุกุและเห็นรถยุโรปคันใหญ่ติดฟิล์มดำทะมึนแล่นผ่านข้างตัวไป ตอนนั้นเพื่อนกระซิบว่า “นั่นแหละ รถแบบนั้นคือรถยากูซ่า”
หรืออีกครั้งหนึ่งที่ได้ยินเรื่องยากูซ่าจากคนใกล้ชิดคือ เมื่อคุณพ่ออุปถัมภ์ชาวญี่ปุ่นเล่าให้ฟังว่า “มีเพื่อนเป็นยากูซ่า”
“หา จริงหรือครับ” ใครจะเชื่อว่าคนที่มีชื่อกระฉ่อนเรื่องความเลวร้ายจะเป็นเพื่อนกับคนปกติอย่างคุณพ่อได้
“จริงๆ นะ รู้จักกันเลย...เพื่อนกันๆ พวกนี้น่ะ ถ้าไม่ไปทับเส้นทางทำมาหากิน เขาก็ไม่ทำอะไรเราหรอก” คุณพ่ออธิบาย
ผมทำหน้าแหย ไม่อยากจะเชื่อ แล้วถามต่อ “เอ่อ นิ้วก้อยซ้ายของเขาแหว่งรึเปล่าครับ” ด้วยเคยรู้มาว่าถ้าสมาชิกยากูซ่าคนไหนทำผิดกฎองค์กร จะถูกลงโทษด้วยการตัดปลายนิ้วก้อยซ้าย
“คนนี้ยัง” คุณพ่อบอกและเสริมด้วยว่า “กับยากูซ่าคนนี้เนี่ย ถึงกับเคยนั่งกินเหล้าคุยกันเลย”
ก็ยังเชื่อยากอยู่ดี คุณพ่อเราจะใจกล้าขนาดนั้นเชียวหรือ แต่คิดอีกทีก็ไม่เห็นว่าคุณพ่อจะมีความจำเป็นอันใดต้องเล่าเรื่องโกหก
การสนทนานั้นผ่านมาหลายปี จนกระทั่งระยะนี้มีข่าวยากูซ่าหนาหูขึ้นมาในญี่ปุ่น ซ้ำยังเกิดเรื่องที่มีนักท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจากคนที่อาจเป็นยากูซ่า และมีข่าวยากูซ่าที่เกี่ยวพันกับวันฮัลโลวีนอีก ผมจึงนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาและรู้สึกว่ายากูซ่าเป็นองค์กรที่น่าสนใจไม่น้อย ไม่ได้หมายความว่าเป็นกลุ่มที่น่ายกย่อง แต่เมื่อคิดดูก็รู้สึกประมาณว่า “อืม...แปลกดี” คือนอกจากเรื่องความชั่วร้ายที่ผิดกฎหมายอย่างที่ใครๆ ก็พอจะนึกภาพออกอยู่แล้ว ยากูซ่ายังทำสิ่งที่คนทั่วไปคงเห็นว่าขัดกับภาพลักษณ์ด้วย
คำว่า “ยากูซ่า” เป็นภาษาญี่ปุ่นที่ไม่ใช่คำทางการ เป็นคำที่พูดกันทั่วไปและมีมานาน หมายถึงกลุ่มที่ใช้กำลังบังคับข่มขู่หาประโยชน์จากผู้อื่น แต่คำทางการในเชิงกฎหมายที่ใช้สื่อนัยเดียวกันนี้คือ “โบเรียวกุดัง” (暴力団; bōryokudan) แปลตามตัวอักษรได้ว่า “องค์กรความรุนแรง”
อันที่จริงคำว่า “ยากูซ่า” ตามที่คนไทยเรียกจนชิน คือคำว่า “ยะ-กุ-ซะ (ヤクザ; yakuza) หรือภาษาอังกฤษเขียนว่า yakuza นี่คือการออกเสียงตัวเลขญี่ปุ่น 8, 9, 3 ว่า ยะ (ya) — กุ (ku)[หรือ “คุ”]— ซะ (za) ตามลำดับด้วยเสียงอ่านโบราณ (เสียงอ่านทั่วไปของเลขเหล่านี้ในปัจจุบันคือ ฮะชิ (hachi) — คุ/คีว (ku/kyū) — ซัง (san) คำว่า yakuza นี้ เป็นคำที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลกดังที่มีหลักฐานปรากฏเป็นนิยามในพจนานุกรมภาษาอังกฤษชื่อดังอย่าง Merriam-Webster และ Oxford Advanced Learner’s Dictionary แล้วด้วย ความหมายง่ายๆ ที่เข้าใจตรงกันทั้งในและนอกญี่ปุ่นคือ แก๊งอันธพาลหรือองค์กรอาชญากรรม
การเป็นที่กล่าวถึงและรู้จักกว้างขวางแบบนี้สืบเนื่องมาจากประวัติอันยาวนาน ที่มาของคำว่า “ยะ-กุ-ซะ” ที่ใช้เรียกองค์กรอาชญากรรมอย่างในปัจจุบันมีมากกว่าหนึ่งกระแส แต่ทฤษฎีที่แพร่หลายที่สุดคือ มาจากการเล่นไพ่ประเภทที่ใช้ไพ่ 3 ใบรวมแต้มโดยมีเป้าหมายให้ถึง 19 ถ้าได้ 10 หรือ 20 ถือว่าเป็น 0 แต้ม และเมื่อ 8+9+3 = 20 ไพ่ชุดนี้จึงถือว่าไร้ค่าและไม่เป็นที่ต้องการ ต่อมาความหมายนี้ถูกนำไปใช้กับคนเสเพล คนไม่เอาไหน และได้กลายเป็นคำเรียกแก๊งอันธพาลว่ายากูซ่าดังเช่นทุกวันนี้
ยากูซ่ามีมาเนิ่นนานในญี่ปุ่นเกิน 250 ปี และเริ่มเฟื่องฟูขึ้นมาชัดๆ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยากูซ่ามีหลายกลุ่มและมีเครือข่ายกว้างขวาง เหนียวแน่น แข็งแกร่งด้วยวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ ความซื่อสัตย์ต่อองค์กร ความเคารพยำเกรงตามหลักอาวุโส ถ้ามองอย่างเป็นกลาง บางจุดก็เป็นเรื่องน่าชื่นชม
คนญี่ปุ่นโดยทั่วไปยอมรับว่ายากูซ่าคือด้านมืดของสังคมญี่ปุ่นที่สร้างความเดือดร้อนอยู่เนืองๆ ทางการญี่ปุ่นก็รู้ว่ายากูซ่ามีตัวตนมานาน แต่กำจัดไม่หมด หรือกำจัดไม่ได้ หรือไม่กำจัด...อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างประกอบกัน
แนวคิดกับกิจกรรมของยากูซ่า
ว่ากันว่ายากูซ่าไม่เหมือนพวกมาเฟียในประเทศตะวันตก ยากูซ่าตั้งสำนักงานอย่างเปิดเผย จัดการประชุมอย่างเป็นกิจจะลักษณะ สักตามตัวเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้คนเห็น ซึ่งในหลายๆ กรณีรอยสักจะยาวตั้งแต่คอจดขา อีกทั้งยังยึดแนวคิดทำนองว่าตัวเองเป็น “ซะมุไรร่วมสมัย” ผู้คงไว้ซึ่งจิตวิญญาณนักรบทรงเกียรติที่สืบทอดมาแต่โบราณ คะกุจิ อินะงะวะ (Kakuji Inagawa; 1914-2007) อดีตหัวหน้าใหญ่ของกลุ่มอินะงะวะ ซึ่งเป็นยากูซ่าอันดับ 3 ในญี่ปุ่นเคยอธิบายไว้ว่า “ยากูซ่ากำลังพยายามดำเนินตามเส้นทางความกล้าหาญและความรักปิตุภูมิ...นั่นคือความแตกต่างประการใหญ่ที่สุดระหว่างเรากับมาเฟียในอเมริกา มันคือความตระหนักในหน้าที่และความสำนึกต่อบุคคล” (Japan: An Illustrated Encyclopedia หน้า 1722)
แนวคิดที่ดูน่าชื่นชมแบบนี้กระมัง คือสิ่งที่ดึงดูดใจผู้สร้างภาพยนตร์ให้นำเรื่องราวมาถ่ายทอดเป็นผลงานมากมาย ถึงขั้นเรียกว่าได้เป็นยุคทองของหนังยากูซ่าในทศวรรษ 1960 จนถึงประมาณครึ่งแรกของทศวรรษ 1980 เนื้อหาหลักๆ ที่สื่อออกมาคือเรื่องความขัดแย้งของสมาชิกในแก๊งเดียวกันหรือต่างแก๊ง ซึ่งต่อสู้เอาชนะกัน นักแสดงชายคนสำคัญของญี่ปุ่น เค็ง ทะกะกุระ (Ken Takakura; 1955-2014) ผู้ล่วงลับ ก็โด่งดังขึ้นมาด้วยบทบาทสมาชิกแก๊งยากูซ่าในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่อง The Yakuza (1975) ที่ร่วมงานกับซิดนีย์ พอล์ลัค (1934-2008) ผู้กำกับชาวอเมริกัน
ยากูซ่ายังไม่หมดไปจากสังคมญี่ปุ่น แต่หนังยากูซ่าหมดยุคไปแล้วตามความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลา และเหตุผลหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ บรรดายากูซ่าทั้งหลายถูกลดบทบาทไปจากสังคมญี่ปุ่นมากแล้ว เพราะตำรวจปราบปรามหนักขึ้น ด้วยเหตุนี้ ทัง ทะกะอิวะจึงบอกว่า “หนังยากูซ่าดูเหมือนเป็นแฟนตาซีแล้ว” (The Encyclopedia of Japanese Pop Culture หน้า 285)
ด้วยสภาพในตอนนี้ที่แทบไม่มีใครพูดถึงหนังยากูซ่าทำให้อนุมานได้ว่า 1) เรื่องยากูซ่าคงเก่าเกินไปสำหรับความบันเทิง และ 2) กิจกรรมของยากูซ่าคงคลายพิษสงลงไปมากจนสังคมไม่ตื่นกลัวหรือตื่นเต้นแล้ว สำหรับประการหลังนี้ก็มีสิ่งที่ยืนยันได้ โดยพิจารณาสถิติจำนวนสมาชิกยากูซ่าทั่วประเทศ กล่าวคือ จากสถิติที่ตำรวจรวบรวมไว้ จะเห็นได้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจำนวนสมาชิกยากูซ่าลดลงเรื่อยๆ
ปี 2553สมาชิกรวม 78,600 คน
ปี 2554สมาชิกรวม 70,300 คน
ปี 2555สมาชิกรวม 63,200 คน
ปี 2556สมาชิกรวม 58,600 คน
ปี 2557สมาชิกรวม 53,500 คน
หรือเมื่อแยกดูเฉพาะแก๊งใหญ่สุด 3 อันดับแรกของประเทศในปี 2557 ต่างก็มีจำนวนสมาชิกลดลงทั้งสิ้น ได้แก่ ยะมะงุชิ-งุมิ [รุ่นที่ 6] (山口組;Yamaguchi-gumi) ซึ่งก่อตั้งมาจนครบ 100 ปีในปี 2558 พอดี ตอนนี้มีสมาชิก 23,400 คน, ซุมิโยะชิ-ไก (住吉会;Sumiyoshi-kai) 8,500 คน และอินะงะวะ-ไก (稲川会;Inagawa-kai) 6,600 คน
เล็กลงแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหมดไป แต่ละกลุ่มยังคงดิ้นรนทำกิจการตามพื้นที่ของตน ยะงะงุชิ-งุมิซึ่งเป็นแก๊งที่ใหญ่ที่สุดมีสายงานทั่วประเทศ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองโกเบ จังหวัดเฮียวโงะ กลุ่มนี้เพิ่งเกิดความขัดแย้งภายในและกลายเป็นข่าวทั่วประเทศเมื่อไม่นานมานี้ ซุมิโยะชิ-ไกมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงโตเกียว มีพื้นที่ยุทธศาสตร์ เช่น คะบุกิโช (歌舞伎町; Kabukichō; เทียบได้กับย่านพัฒนพงศ์ของไทยเพราะเป็นแหล่งรวมธุรกิจลักษณะเดียวกัน อยู่ในย่านชินจุกุ และย่านกินซะ (銀座; Kinza) ส่วนอินะงะวะ-ไก มีสำนักงานสำคัญที่กรุงโตเกียว-เมืองโยะโกะฮะมะ ปฏิบัติการอยู่ในภูมิภาคคันโต (関東; Kantō; ทางตะวันออกของประเทศ)
สิ่งที่พวกยากูซ่าทำไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมายทั้งหมด ถ้าพูดถึงการละเมิดกฎหมาย คนส่วนใหญ่คงนึกออกว่าหลักๆ คือการเก็บค่าคุ้มครอง รีดไถ ค้ามนุษย์ วิธีการทำก็มีหลายรูปแบบ เช่น ยกเหตุผลมาอ้างเพื่อเรียกเงิน โดยเฉพาะจากบาร์หรือร้านที่ทำธุรกิจกลางคืน วันร้ายคืนร้ายอาจมีคนใส่สูทเนี้ยบเดินเข้าร้านแล้วบอกว่า “นี่เธอ! มาเปิดร้านใกล้สำนักงานฉันเนี่ย เดี๋ยวฉันจะดูแลเรื่องลูกค้าให้ จะเชียร์แขกเข้าร้านให้ หรือถ้าแขกทะเลาะกันก็จะเคลียร์ให้ คิดค่าดูแลไม่แพงหรอก จ่ายมาซะดีๆ เดี๋ยวจัดการให้” คือนึกจะเข้าไปเรียกเก็บจากร้านไหน ยากูซ่าก็บุกเข้าไปตามใจชอบ หรือกรณีที่ตำรวจยกเป็นตัวอย่างการปราบปรามคือ ร้านอาหารแห่งหนึ่ง จู่ๆ ก็มีชายแปลกหน้าเข้ามาแจ้งชื่อเสร็จสรรพและบอกตรงๆ เลยว่าเป็นสมาชิกแก๊งยากูซ่าและรีดไถโดยใช้คำว่า ‘ค่าคบค้าสมาคม’ เดือนละ 50,000 เยน หรืออีกกรณีคือ ลูกชายอายุ 19 ปีของครอบครัวหนึ่งอยากจะถอนตัวจากแก๊งยากูซ่า ปรากฏว่าถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการออกจากกลุ่ม 2-3 ล้านเยน
ภาพลักษณ์ทั่วไปเป็นแบบนั้น แต่ยากูซ่าก็ทำสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายซึ่งเหนือความคาดหมายเช่นกัน เมื่อครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่เมืองโกเบในปี 2538 หนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับวันที่ 22 มกราคมปีนั้น รายงานว่าท่ามกลางความสับสนในการกู้ภัยที่เกิดขึ้น รัฐบาลต้องเผชิญความอับอาย เพราะยากูซ่าคือผู้ที่เข้าไปช่วยผู้ประสบภัยก่อน! สมาชิกระดับสูงของยะมะงุชิ-งุมิคนหนึ่งถึงกับให้สัมภาษณ์ว่าทางกลุ่มจัดสรรอาหารให้วันละ 8,000 ชุดซึ่งประกอบด้วยขนมปัง นมผง น้ำแร่ และไข่ โดยใช้พาหนะต่างๆ ทั้งรถจักรยานยนต์ เรือ หรือแม้แต่เฮลิคอปเตอร์ หากจะคิดว่ายากูซ่ารีบไปช่วยเพราะบังเอิญเกิดเหตุในเมืองโกเบอันเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ละก็ อาจจะไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2554 ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ยากูซ่าต่างกลุ่มก็พากันรุดไปช่วยบรรเทาทุกข์อีก
หรือถ้ามองว่านั่นเป็นเรื่องใหญ่ที่ใครๆ ก็ไม่อาจนิ่งนอนใจ ลองมองเรื่องเล็กๆ ที่ยากูซ่าทำดูบ้าง คือ ในช่วงก่อนสิ้นเดือนตุลาคมที่เพิ่งผ่านมานี้ ถ้าใครเดินไปแถวๆ ประตูสำนักงานของยะมะงุชิ-งุมิ อาจจะต้องหยุดแล้วยืนอ่านสักนิด ข้อความเขียนว่า “งานฮัลโลวีนซึ่งทางเราจัดเป็นประจำทุกปีในวันที่ 31 ตุลาคม จะถูกยกเลิกในปีนี้ด้วยเหตุผลหลายประการ ทางเราขออภัยที่สร้างความผิดหวังให้แก่พ่อแม่และเด็กๆ ทั้งหลายที่ตั้งตารองานนี้ แต่เราสัญญาว่าปีหน้าจะกลับมาจัดอีก”
การที่งานถูกยกเลิกคงมีสาเหตุมาจากปัญหาภายใน แต่จะอะไรก็ช่าง สิ่งที่ผู้รับข่าวสารอย่างผมซึ่งเป็นคนต่างชาติรู้สึกแปลกใจก็คือ ยากูซ่ามีมุมเหล่านี้ด้วยหรือ...มุมมนุษยธรรม? มุมใจดี?
จะสรุปได้ไหมว่ายากูซ่าใจดี?...อุตส่าห์จัดงานให้เด็กๆ ทุกปีเลยเชียว ยากูซ่าคบกับคนทั่วไปก็ได้หรือ? หรือว่าสร้างภาพ?
อ่านข่าวจบแล้ว ผมจึงนึกย้อนถึงการคุยกับคุณพ่ออุปถัมภ์เมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นผมถามด้วยความสงสัยว่า “แล้วทำไมตำรวจญี่ปุ่นไม่จับยากูซ่าให้หมดล่ะครับ”
คุณพ่อตอบว่า “ก็ตำรวจเป็นเพื่อนกับยากูซ่าน่ะซี ฮ่า ๆ ๆ”
**********
คอลัมน์ญี่ปุ่นมุมลึก โดย ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์ แห่ง Tokyo University of Foreign Studies จะมาพบกับท่านผู้อ่านโต๊ะญี่ปุ่น ทุกๆ วันจันทร์ ทาง www.manager.co.th