ผลการวิจัยเผยเหตุผลที่สาวญี่ปุ่นทำไมถึงไม่อ้วนทั้งๆที่ออกกำลังกายน้อย โดยเคล็ดลับอยู่ที่วิถีชีวิตที่มีการเคลื่อนไหวมาก และอาหารที่มีไขมันน้อย
วารสารทางการแพทย์ The Lancet ได้สำรวจเรื่อง “ประเทศที่ไม่ชอบออกกำลังกาย” โดยพบว่า ชาวญี่ปุ่นออกกำลังในระดับที่น้อยกว่าชาติตะวันตกมาก โดยชาวญี่ปุ่นกว่า 60% ออกกำลังน้อยกว่ามาตรฐาน ขณะที่ชาวอเมริกันเป็นกลุ่มที่ชอบออกกำลังกายมากที่สุดในโลก หากแต่เป็นเรื่องแปลกที่ชาวญี่ปุ่นที่อ้วนกลับมีน้อยมาก ขณะที่ชาวอเมริกันที่ชอบออกกำลังกาย แต่กลับมีจำนวนคนที่อ้วนมากกว่า
ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า การออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง หากแต่ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ วิถีชีวิตที่ดี โดยชาวญี่ปุ่นมี “ตัวช่วย” ที่ทำให้ไม่อ้วน ได้แก่
1. เดินมาก
ชาวญี่ปุ่นเดินมากที่สุดในโลก เนื่องจากการเดินทางไปทำงานและโดยสารรถไฟแต่ละสถานีต้องเดินเป็นระยะทางไกลพอสมควร ระบบขนส่งมวลชนของญี่ปุ่นถึงแม้จะดีเยี่ยม หากแต่หนาแน่นอย่างมาก จนผู้โดยสารจำนวนมากต้องยืนบนรถไฟเป็นเวลานานนับชั่วโมง ซึ่งมีผลการวิจัยระบุว่า ในขณะที่ยืนบนรถโดยสารสาธารณะ ร่างกายจะต้องขยับตัวเพื่อรักษาสมดุลอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกายแบบหนึ่ง
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่ใช้จักรยานมากที่สุด ทุกบ้านต้องมีจักรยานไว้ประจำตัว โดยการเดินทางด้วยจักรยานในระยะทาง 3-5 กิโลเมตร ถือเป็นเรื่องปกติของชาวญี่ปุ่น
2. ลักษณะภูมิประเทศเฉพาะ
ญี่ปุ่นมีภูมิประเทศที่เป็นเนินเขาจำนวนมาก ที่ราบมีน้อย ทำให้การเดินทางของชาวญี่ปุ่นเป็นการเดินบนทางลาดชันจำนวนมาก ซึ่งเผาผลาญพลังงานมากกว่าการเดินทางเรียบ
3. ทานอาหารนอกบ้านน้อย
ชาวญี่ปุ่นตั้งแต่เด็กมักจะทานอาหารเช้าที่บ้าน ส่วนอาหารกลางวันมักเป็นข้าวกล่อง หรือ “เบนโตะ” ที่คุณแม่บ้านทำให้สามีและลูกไปทานที่ทำงานและที่โรงเรียน โดยมีผลการวิจัย ชี้ชัดว่า การทานอาหารนอกบ้านเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อ้วนและเสียสุขภาพ
ผลการวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า ผู้ชายญี่ปุ่นที่เป็นมนุษย์เงินเดือนและต้องสังสรรค์นอกบ้านบ่อย จะมีสุขภาพที่แย่กว่าบรรดาแม่บ้านอย่างเห็นได้ชัด
4. อาหารคุณภาพ
อาหารญี่ปุ่นมีไขมันน้อยและใกล้เคียงกับธรรมชาติ นอกจากจะไม่ทำให้อ้วนแล้วยังเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยอาหารที่มีส่วนผสมของสารเคมีปรุงแต่งรส สี กลิ่น มากจะทำให้ร่างกายต้องทำงานหนักกว่าปกติ และเป็นผลเสียต่อสุขภาพอย่างยิ่ง
5. การประเมินสารอาหารแบบมืออาชีพ
ในญี่ปุ่นมีการประเมินคุณค่าทางอาหารอย่างชัดเจน อาหารกลางวันโรงเรียนจะมีการประเมินคุณค่าสารอาหารโดยนักโภชนาการมืออาชีพ ขณะที่อาหารสำเร็จรูปที่จำหน่ายจะต้องมีฉลากบอกปริมาณสารอาหาร, แคลอรี่, สารที่อาจก่อภูมิแพ้ รวมทั้งแหล่งผลิตอย่างชัดแจ้ง แม้แต่ผักผลไม้หรือเนื้อ ก็ต้องบอกว่าปลูกที่จังหวัดใด หรือเป็นสินค้านำเข้าจากประเทศใด
ผู้เชี่ยวชาญ แนะนำว่า การออกกำลังกายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้มีสุขภาพดี หากแต่ไม่ควรตั้งเป้าหมายว่าออกกำลังกายเพื่อลดความอ้วน หรือเผาผลาญแคลอรี่ แต่ควรออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี กล้ามเนื้อจะเสื่อมลงราว 0.6% ต่อปี และเมื่อกล้ามเนื้อเสื่อมลงก็จะทำให้อัตราการเผาผลาญพลังงาน หรือ เมตตาโบลิซึม ช้าลงด้วย ดังนั้นจึงต้องออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ
วิถีชีวิตที่ดี, การดูแลเรื่องอาหารการกิน, พักผ่อนอย่างเพียงพอ ,ไม่เครียด รวมทั้งการออกกำลังกาย ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง รูปร่างผอมหรืออ้วนเป็นเพียงสิ่งบ่งชี้อย่างหนึ่งเท่านั้น โดยผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า การออกกำลังกายออกเน้นที่การเสริมสร้างกล้ามเนื้อมากกว่าการเผาผลาญแคลอรี่เพื่อ “ลดความอ้วน” เพราะกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะทำให้ระบบของร่างกายทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และจะไม่อ้วนง่าย.