xs
xsm
sm
md
lg

วิบากกรรมโตเกียว โอลิมปิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกของกรุงโตเกียวในปี 2020 ต้องพบกับอุปสรรคมากมาย ตั้งแต่แผนการก่อสร้างสนามกีฬาที่ถูกยกเลิกเพราะค่าก่อสร้างแพงมหาศาล จนถึงตราสัญลักษณ์การแข่งขันที่มีปัญหาเรื่องการลอกเลียนแบบ

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อะเบะ ดีใจเป็นพิเศษเมื่อกรุงโตเกียวได้รับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกในปีค.ศ. 2020 โดยตั้งเป้าว่ามหกรรมระดับโลกนี้จะเป็นสัญลักษณ์ของการหวนคืนสู่ความยิ่งใหญ่ของลูกพระอาทิตย์ ทั้งเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ และแสดงถึงการฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่และคลื่นยักษ์สึนามิ

ความจริงแล้ว กีฬาโอลิมปิกได้คลายมนต์เสน่ห์ลงไปอย่างมาก และถูกแปรเปลี่ยนจากมหกรรมกีฬาของชาวโลกไปเป็นธุรกิจ 100% ซึ่งทำให้การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกต้องมีต้นทุนมหาศาล และหลายประเทศพบกับความล้มเหลว จนถึงขั้นเกือบล้มละลายจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

ญี่ปุ่นยังพบกับวิบากกรรมหลายเรื่องจากการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก ตั้งแต่แผนก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติที่ถูกนายกฯอะเบะสั่งยกเลิกทั้งหมด เนื่องจากค่าก่อสร้างที่แพงมหาศาล

ล่าสุด รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจเรื่องแผนการใหม่ในการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติที่กรุงโตเกียว โดยจำกัดเพดานค่าก่อสร้างไว้ที่ 155,000 ล้านเยน หรือราว 45,800 ล้านบาท ซึ่งลดลงมากกว่า 110,000 ล้านเยน หรือราว 32,500 ล้านบาท จากค่าก่อสร้างที่คาดการณ์ไว้ในแผนฉบับก่อน

ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไม่สบายใจกับเงินค่าก่อสร้างจำนวนมหาศาล พร้อมกับตั้งคำถามว่า บรรดาสิ่งก่อสร้างสำหรับกีฬาโอลิมปิก จะมีการใช้งานและบริหารจัดการอย่างไรหลังจบการแข่งขัน?

ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ระบุการก่อสร้างด้วยเงินภาษีประชาชนมูลค่ามหาศาล จำต้องผ่านข้อกำหนด 3 ประการถึงจะได้รับการยอมรับจากประชาชน ได้แก่

ต้องเพิ่มประสิทธิผลในระบบคมนาคมขนส่ง เช่น รถไฟหัวกระสุนชิงกันเซ็งสายโตไกโดที่สร้างขึ้นมาสำหรับงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งก่อนที่กรุงโตเกียวเมื่อปี ค.ศ.1964 ที่มีค่าก่อสร้างอยู่ที่ 380,000 ล้านเยนตามค่าเงินในเวลานั้น ซึ่งสูงกว่างบประมาณก่อสร้างที่คาดไว้ล่วงหน้า 2 เท่า แต่หลังจากนั้นผู้คนมากมายก็ยังใช้บริการรถไฟชิงกันเซ็งสายโตไกโดนี้ การสร้างรถไฟสายดังกล่าวจึงได้รับการยอมรับจากผู้คน

เรื่องที่สองคือ สิ่งก่อสร้างนั้นมีประโยชน์ระยะยาวหรือไม่? เช่น หากมีการใช้เงินจำนวนมากไปกับการสร้างห้องสมุด ก็จะไม่มีคนมากมายคัดค้านหากห้องสมุดนั้นคุ้มค่ากับราคา และผู้คนจำนวนก็มากพร้อมจะสนับสนุนเมื่อมีการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้เพื่อประโยชน์ของลูกหลาน

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังต้องตอบให้ได้ว่า สิ่งก่อสร้างนั้นเกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนในวงกว้างหรือไม่? ชาวญี่ปุ่นไม่เคยคัดค้านการก่อสร้างเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการศึกษาหรือการรักษาพยาบาล หากแต่การสร้างสนามกีฬาขนาดยักษ์เพื่อใช้งานเพียงแค่ไม่กี่วันนั้น จำเป็นต้องมีแผนบริการจัดการว่าหลังสิ้นสุดการแข่งขัน สนามกีฬาดังกล่าวจะใช้ประโยชน์อย่างไร หรือแค่ถูกทิ้งร้างเหมือนเช่นในหลายประเทศ

คณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียว โอลิมปิก ระบุว่า ได้เริ่มเปิดรับการประมูลเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่ขนาด 68,000 ที่นั่งแล้ว โดยจะมอบสิทธิการเป็นผู้ก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติแห่งใหม่ให้กับผู้ประมูลเพียงรายเดียว ซึ่งจะเป็นผู้รับผิดชอบโครงการในทุกขั้นตอนการก่อสร้าง ภายใต้เงื่อนไขสำคัญ คือ งบประมาณทั้งหมดจะต้องไม่เกิน 155,000 ล้านเยน


โลโก้เจ้าปัญหา ต้นเหตุจากการปิดกั้นการมีส่วนร่วม

นอกจากเรื่องการก่อสร้างสนามกีฬาที่แพงมหาศาลแล้ว คณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียว โอลิมปิก ยังเผชิญกับวิบากกรรมเรื่องตราสัญลักษณ์ หรือ โลโก้ของการแข่งขันที่ถูกกล่าวหาว่าลอกเลียนแบบ จนต้องตัดสินใจยกเลิกใช้ตราสัญลักษณ์ที่ออกแบบโดยนายเคนจิโร ซาโน หลังจากพบว่านักออกแบบชาวญี่ปุ่นมีการใช้ภาพละเมิดลิขสิทธิ์ประกอบการออกแบบ

ตราสัญลักษณ์การแข่งขันโตเกียว โอลิมปิกและพาราลิมปิก ปี 2020 ที่ออกแบบโดยนายเคนจิโร ซาโน ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางมานานนับเดือน หลังจากพบว่ามีความคล้ายคลึงกับตราสัญลักษณ์ของโรงละครในประเทศเบลเยี่ยม จนทำให้นักออกแบบกราฟฟิกชาวเบลเยี่ยมได้ยื่นฟ้องต่อศาลให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล เพื่อให้ระงับการใช้ตราสัญลักษณ์ดังกล่าว หากแต่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลและคณะกรรมการโตเกียวโอลิมปิก ได้ยืนยันมาตลอดว่าได้ตรวจสอบแล้วว่าตราสัญลักษณ์ไม่มีปัญหาด้านลิขสิทธิ์แต่อย่างใด

แต่สุดท้ายแล้ว คณะกรรมการโอลิมปิกโตเกียว ก็จำต้องงยกเลิกการใช้ตราสัญลักษณ์เจ้าปัญหานี้ เพราะไม่ได้รับการยอมรับจากสาธารณชน

การคัดเลือกตราสัญลักษณ์มหกรรมกีฬาโตเกียวโอลิมปิก ถูกวิจารณ์ว่าปิดโอกาสการนำเสนอผลงานของสาธารณชน เนื่องจากทางคณะกรรมการตั้งเงื่อนไขว่า ผู้สมัครเข้าประกวดจะต้องเคยได้รับรางวัลในงานประกวดออกแบบระดับชาติหรือระดับสากล ตามรายชื่องานที่คณะกรรมการกำหนดไว้ ทำให้มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดเพียงแค่ 104 แบบเท่านั้น

ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากได้นำเสนอไอเดียการออกแบบของตัวเองผ่านทางโลกออนไลน์ โดยผลงานหลายชิ้นได้รับเสียงชมเชยว่าดูดีกว่าโลโก้ที่ส่งเข้าประกวดเสียอีก


พลังแห่งสาธารณชน มหกรรมของแค่ใครบางคน?

ปัญหาของมหกรรมกีฬาโตเกียว โอลิมปิก ที่เกิดขึ้นทั้งเรื่องการก่อสร้างสนามกีฬาและตราโลโก้เจ้าปัญหา ล้วนถูกเปิดโปงโดยสาธารณชนคนธรรมดาผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ในการแสดงพลังของสาธารณชน รัฐบาลญี่ปุ่นที่ป่าวประกาศว่า การเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกนั้นจะ “เป็นหน้าเป็นตา” ของประเทศ แต่ความจริงแล้ว ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกมีส่วนร่วมมากมายนัก ซ้ำยังตั้งคำถามว่าการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลครั้งนี้มีความคุ้มค่าหรือไม่? หรือจะเป็นแค่การ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ”

สิ่งที่รัฐบาลญี่ปุ่นบอกว่า การเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นก็ไม่ได้มีหลักฐานที่แน่ชัด ซ้ำหลายประเทศที่เคยเป็นอดีตเจ้าภาพยังมีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้นการพัฒนาเรื่องสวัสดิการสังคมและระบบภาษีจะเป็นเรื่องปากท้องสิ่งที่จับต้องได้มากกว่าหรือไม่?

หรือที่ว่า กีฬาโอลิมปิกจะแสดงถึงการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัตินั้น อาจจะเป็นเพียงการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกผ่านพื้นที่ประสบภัยเท่านั้น หากแต่ทุกวันนี้ผู้ประสบภัยจำนวนมากยังไม่สามารถกลับบ้านเกิดของตัวเองได้ ขณะเดียวกันการจัดการกับโรงไฟฟ้านิวเคียร์ฟูกุชิมะก็เป็นภารกิจที่อาจต้องใช้เวลานานกว่า 20 ปี

กีฬาโอลิมปิกซึ่งถูกสร้างภาพว่าเป็นมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติ และเป็นศักดิ์ศรีของประเทศนั้น หากขาดซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว ก็เป็นเพียงกิจกรรมสร้างภาพที่รัฐบาลและกลุ่มธุรกิจ “คิดเองทำเอง” แต่ใช้เงินของประชาชนเท่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น