xs
xsm
sm
md
lg

“ยูโซ โทโยดะ” นักร้องเพลงเพื่อชีวิต ผู้รักสันติภาพ และรักเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยูโซ โทโยดะ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2558 ที่กรุงเทพฯ
ยูโซ โทโยดะ (Yuzo Toyoda) นักร้องเพลงเพื่อชีวิตจากแดนอาทิตย์อุทัย ผู้รักใฝ่หาสันติภาพอย่างมิแปรเปลี่ยน เพลงของยูโซ โตโยดะ แฝงปรัชญา มุมมองที่มีต่อผู้คนในแห่งหนที่เขาได้ไปเยี่ยมเยือน หลายบทเพลงเคยดังก้องในยามเย็นที่วัดเคียวมิสึแห่งเกียวโต อันสงบสง่างดงาม ซึ่งเป็นมรดกโลกของญี่ปุ่น

ความรักความผูกพันที่มิรู้คลายอีกอย่าง ของยูโซ คือ “รักเมืองไทย” เดินทางมาเมืองไทยทุกปีปีละ 2 ครั้งตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ยูโซบอกว่า “เมืองไทยเป็นบ้านหลังที่สองของผม”

“คิดถึงฮิโรชิมา คิดถึงสันติภาพ”
ยูโซใฝ่รักดนตรีมาแต่วัยเด็ก เริ่มเล่นกีตาร์มาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ 5 แฟนเพลงคนโปรดคือ Hank William และ Bob Dylan ยูโซเริ่มแต่งเพลงเมื่ออายุ 16-17 ปี เพลง “ฮิโรชิมา” ของเขา ชนะการประกวดแต่งเพลงต่อต้านสงคราม อะตอมมิกบอมบ์ของภาคตะวันตกญี่ปุ่น

ยูโรเล่าถึงเพลง “ฮิโรชิมา” ที่เขาแต่ง...เนื้อหาบรรยายถึงชีวิตครอบครัวหนึ่งในเมืองฮิโรชิมาในวันที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1945 เพื่อบีบให้รัฐบาลญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม

“ในวันมหาวิปโยคของชาวฮิโรชิมาวันนั้น ลูกชายและลูกสาวของครอบครัวหนึ่ง เดินทางไปต่างเมือง ลูกๆได้ยินเสียงดังกัปนาท และเห็นแสงไฟลูกมหึมาพุ่งพวยอยู่เหนือเมืองฮิโรชิมา ก็คิดถึงพ่อแม่ที่อยู่เฝ้าบ้าน เมื่อลูกๆกลับมายังบ้าน ก็พบพ่อแม่เสียชีวิต...ร่ำไห้...ถามว่า ใครมาจากไหน ใครทำอย่างนี้ ...ขอวิงวอนผู้คนคิดถึงสันติภาพ”

ปีนี้เป็นปีครบรอบปีที่ 70 ของการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา ที่สังหารประชาชนไปกว่า 140,000 คน สามวันต่อมาในวันที่ 9 สิงหาคม สหรัฐฯก็ได้ทิ้งระเบิดปรมาณูลูกที่สองที่เมืองนางาซากิ คร่าชีวิตคน 40,000 คนในทันที... 5 วันต่อมาคือในวันที่ 15 สิงหาคม สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็สิ้นสุดลง…ทว่า ผู้คนนับแสนนับล้านทั่วโลกที่สูญเสียหลายสิ่งหลายอย่างในระหว่างสงครามโดยเฉพาะผู้เป็นที่รัก ยังต้องทุกข์ทรมานแสนสาหัส

“คิดถึงฮิโรชิมา คิดถึงสันติภาพ” ยูโซ ได้ส่งสารนี้ถึงผู้คนผ่านเพลงฮิโรชิมาที่เขาแต่ง

จิตวิญญาณนักสู้เพื่อความเสมอภาค
ยูโซเกิดที่นครหลวงเก่าเกียวโต ปี ค.ศ.1949 เข้าศึกษามหาวิทยาลัย Dosisya ในช่วงปี 1970 เขาอยากเรียนวรรณกรรม แต่ด้วยระบบการคัดเลือกฯ จึงถูกจัดให้มาเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ ช่วงนั้นมีกระแสต่อต้านสงคราม กระแสต่อต้านระบบการศึกษาที่ไม่เป็นธรรม กลุ่มนักศึกษาจำนวนมากได้เข้าร่วมการประท้วงฯ บอยคอตชั้นเรียนโดยปิดประตูห้องเรียน เมื่อทางมหาวิทยาลัยเรียกตำรวจมาเปิดประตูห้องเรียน นักศึกษากลุ่มหนึ่งก็ยอมกลับเข้าเรียน แต่ยูโซยังไม่ยอมแพ้

“ตอนอายุ 20 ปี ผมตั้งคำถามว่าทำไมคนจบมหาวิทยาลัย กับคนที่จบมัธยมปลายไม่เท่าเทียมกันในงานอาชีพ เช่น เงินเดือนไม่เท่ากัน ถูกปฏิบัติไม่เหมือนกัน ผมยังไม่เห็นด้วยกับระบบที่นักศึกษาต้องจ่ายค่าเล่าเรียนสูงมาก หลังจากที่นักศึกษากลุ่มหนึ่งยอมกลับเข้าชั้นเรียน ผมไม่จ่ายค่าเล่าเรียน เป็นการประท้วงต่อ ในที่สุดก็ถูกคัดชื่อออกจากบัญชีรายชื่อนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งผมก็ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น ไม่ต้องการมีชื่ออยู่ในมหาวิทยาลัย”

“ออกมาโดยไม่รู้เลยว่าจะทำอะไร อาชีพธรรมดาทั่วๆไปก็ทำไม่เป็น แต่ด้วยจิตใจที่มั่นคง “พูดแล้วไม่คืนคำ” เราก็ออกมา” ยูโซเล่า

หลังออกจากมหาวิทยาลัย ยูโซก็มุ่งสู่เส้นทางฝันสายดนตรี จัดรายการวิทยุ เล่นดนตรีเพื่อชีวิตที่ร้านกาแฟร็อค จนได้ออกแผ่นเสียงชุดแรกในปี ค.ศ. 1974 (พ.ศ. 2517)

จนอายุ 22 ปี ก็มุ่งมั่นว่าจะเป็นนักดนตรีอาชีพ ซึ่งยูโซได้เล่าว่า “การเป็นนักร้องนักดนตรีเพลงเพื่อชีวิตนั้น ลำบาก รายได้น้อย และกลุ่มนักร้องเพลงเพื่อชีวิตในญี่ปุ่นเอง ก็มีน้อย ผมโชคดีที่สามารถยืนหยัดในอาชีพมาได้ถึงวันนี้”
ยูโซ โทโยดะ บนเวทีคอนเสิร์ต
เป็นไงมาไง ถึงได้มาเมืองไทย รักเมืองไทย ?
ตอนปี 1985 วงดนตรีเพื่อชีวิต “คาราวาน” ได้มาเปิดคอนเสิร์ตที่โตเกียว ผมก็ไปฟัง รู้สึกประทับใจมาก และผู้จัดคอนเสิร์ต ก็ได้แนะนำผมให้รู้จักกับมงคล อุทก ได้รู้จักกับ “หงา” สุรชัย จันทิมาธร

ปีถัดมา คุณมงคลได้ชวนไปทัวร์คอนเสิร์ตตามจังหวัดต่างๆในเมืองไทย จากนั้นมา ยูโซก็มาเมืองไทยทุกปี ตระเวนเล่นคอนเสิร์ต ท่องเที่ยว ทัศนศึกษา ได้ร่วมแสดงคอนเสิร์ตกับนักดนตรีและวงดนตรีเพื่อชีวิตชั้นนำของไทย วงคาราวาน, วงคีตาญชลี, จรัล มโนเพ็ชร ราชาโฟล์คซองคำเมือง, วงโฮป, วงคาราบาว เป็นต้น จนถึงปัจจุบัน

ยูโซแต่งเพลงเกี่ยวกับเมืองไทยเป็นภาษาญี่ปุ่นหลายเพลงด้วยกัน เพลงเกี่ยวไทยเพลงแรกที่แต่งคือ เพลง “พจนา” (พจนา จันทรสันติ), เพลงจดหมายถึงอุบล, เพลงบุญมี เนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตนักพัฒนาชาวอีสาน, เพลงอ้อมกอดเจ้าพระยา, เพลง Thai-mai blues* ที่เกิดขึ้นมาจากความสะเทือนใจที่ข้าวไทยถูกเมินและไม่ได้รับความเป็นธรรมเมื่อส่งไปขายที่ญี่ปุ่น

ดูจะไม่มีอะไรสะท้อนถึงความรักความผูกพันกับเมืองไทยของยูโซได้ดีเท่าเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อน (ปี 1994/2537) รัฐบาลไทยได้ส่งข้าวไปช่วยเหลือชาวญี่ปุ่น ที่กำลังประสบวิกฤตขาดแคลนข้าว แต่คนญี่ปุ่นกลับบ่นว่าข้าวไทยเหม็นสกปรก แล้วโยนทิ้งไป ยูโซบอกว่า “ผมรู้สึกโกรธมาก” หยิบปากกาขึ้นโต้ตอบปกป้องข้าวไทย โดยแต่งเพลง “Thai Mai Blue” เนื้อเพลงบรรยายถึงความรู้สึกของ “เมล็ดข้าวไทย”

ช่วงปี 1990 ยูโซอาศัยอยู่ในไทยนานถึง 4-5 ปี เรียนภาษาไทย เดินทางไปต่างจังหวัด ยูโซบอกว่า “ชอบภาคอิสานมากที่สุด” เดินทางเรียนรู้สภาพชีวิตชาวอิสาน อ่านวรรณกรรม “ลูกอิสาน” ของคำพูน บุญทวี ซึ่งมีฉบับแปลภาษาญี่ปุ่น

ยูโซยังได้อุทิศทุนรอนส่วนตัว จัดตั้ง “กองทุนยูโซ โทโยดะ เพื่อการศึกษาเด็กไทยในชนบท” ให้กับนักเรียนที่ยากจนที่โรงเรียนบ้านนาหนองทุ่ม ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ นับจากปี1996 (2539) ทุกปีต่อเนื่องเป็นเวลาราว 10 ปี

“ให้ทุนการศึกษาระดับประถม มัธยม เป็นทุนสองปีบ้าง หนึ่งปีบ้าง บางทีหมดทุนแล้ว ผมไม่ได้ส่งต่อ ก็พยายามติดต่อเพื่อนๆให้มาช่วยออกทุนให้เด็กๆ ได้เรียนต่อจนจบชั้นมัธยม 3 ปี”

นี่คือน้ำใสใจจริงของคนต่างชาติที่แสดงความรักในแผ่นดินไทย ด้วยการสละทุนส่วนตัว จากอาชีพที่ไม่ได้สร้างความมั่งคั่งแก่เขาเลย

การดำเนินชีวิตที่ช่วยสรรค์สร้างสันติภาพในความคิดของยูโซ
การใช้ชีวิตเพื่อสันติภาพของผม คือ ร้องเพลง ดนตรีช่วยกล่อมเกลาความรู้สึกสวยงาม เปิดกว้าง เมื่อ จิตใจดี คิดดี ก็คิดถึงผู้อื่น

“คนเปลี่ยน โลกก็เปลี่ยน
โลกเปลี่ยน คนไม่เปลี่ยน (อาจเปลี่ยนนิดหน่อย)”


เนื้อเพลง Thai Mai Blue แต่งโดย ยูโซ โทโยดะ
“ห่างจากบ้านเกิดไกลแค่ไหนแล้ว ลงเรือ ขึ้นรถ ในที่สุดก็มาถึงโกดังแห่งนี้ ในญี่ปุ่น ประเทศที่หนาวเย็น

มีแต่คนว่าฉันกลิ่นเหม็น ไม่อร่อย แม้แต่ข้าวสารจากแคลิฟอร์เนีย ยังดูถูกฉัน นานๆ มีคนซื้อฉันคู่กับเมล็ดข้าวญี่ปุ่น แต่ยังหุงกินแต่ข้าวญี่ปุ่น เท่านั้น

อย่าดูถูกข้าวไทยอย่างฉัน ถ้าญี่ปุ่นขาดพวกฉัน จะผลิตโมจิ หรือ อะราเร่ได้อย่างไร?
ข้าวเกรียบกุ้งก็ยังทำไม่ได้ไม่ใช่หรือ?

ห่างจากบ้านเกิดมาตั้งไกล แต่ถูกทิ้งในทุ่งหญ้าเป็นร้อยๆกิโล

หากชาวนา ชาวไร่ ที่บ้านเกิดของฉันได้ยิน แล้วพวกเขาจะรู้สึกอย่างไร? พวกฉันกลายเป็นขยะในต่างแดน

ฉันฝันอยู่ในทุ่งหญ้า ฝันถึงเด็กๆในบ้านเกิด ที่ไม่มีข้าวกิน
และร้องไห้ด้วยความหิวโหย

ฉันอยากจะกลับไปเมืองเกิด และอยากเป็นเมล็ดข้าว สำหรับเด็กๆที่หิวโหย ฉันฝันว่า กลับไปแล้ว จะได้เป็นเมล็ดข้าวของพวกเด็กๆ ร้องไห้ด้วยความหิวโหย”




ปัจจุบัน ยูโซ ยังเดินสายแสดงคอนเสิร์ตตามจังหวัดต่างๆในญี่ปุ่น และเดินทางมาแสดงคอนเสิร์ตที่เมืองไทยทุกปี ในสัปดาห์นี้ ยูโซและเพื่อนมิตรชาวไทย ก็ได้เปิดคอนเสิร์ตเล็กๆบรรเลงเพลงแห่งมิตรภาพ ความคิดและอิสรภาพ ณ ร้านอาหารบรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง โดยมีศิลปินรับเชิญ วงคีตาญชลี อิเดกิ โมริ ไข่ตุ๋น และ อีกมากมาย จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคมนี้ เวลา 18.00 น. ที่ร้านสบายใจไก่ย่าง สุขุมวิท 63 (เอกมัย) ซอย 1 บัตรราคา 500 บาท สอบถามรายละเอียดได้ คุณโอโนซากิ 081-614-5970
กำลังโหลดความคิดเห็น