xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านผู้ผลิตกะปิชื่อดังเมืองแปดริ้วร้องระงมหลังศูนย์ PIPO ขีดเส้นตายห้ามทำกิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านผู้ผลิตกะปิชื่อดังเมืองแปดริ้ว ร้องระงม หลังศูนย์ PIPO ขีดเส้นตายห้ามทำกิน
ฉะเชิงเทรา - ชาวบ้านผู้ผลิตกะปิชื่อดังเมืองแปดริ้ว รวมตัวส่งเสียงร้องระงมฝากถึง คสช. ขอผ่อนผันเครื่องมือประมงทำกินชายฝั่งตามวิถีเฉพาะอาชีพของชาวบ้าน หลังศูนย์ PIPO บางปะกง ขีดเส้นตาย 13 ส.ค.58 ห้ามใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายทุกประเภท ครวญอวนรอดักจับเคยจำเป็นต้องใช้อวนมุ้งตาถี่แบบเฉพาะไม่เกี่ยวกับการจับสัตว์น้ำชนิดอื่น



วันนี้ (11 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณศาลเจ้ากลางหมู่บ้านคลองเจริญวัย ม.2 ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านกว่า 40-50 คน ได้จับกลุ่มรวมตัวกันวิพากษ์วิจารณ์ถึงอนาคตในการประกอบอาชีพทำกินของคนในหมู่บ้าน หลังจากได้รับแจ้งจากผู้นำในชุมชนว่าจากการเข้าร่วมประชุมรับฟังการชี้แจงจากหน่วยงานควบคุมการทำประมงในพื้นที่ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลบางปะกง เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่จะนำมาแจ้งให้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้านทราบในวันนี้ว่า

ทางศูนย์ PIPO จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้กำหนดเส้นตายในการห้ามชาวประมงใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมายทุกชนิดออกทำการประมงนับตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค.58 นี้เป็นต้นไป ซึ่งจากมาตรการที่เด็ดขาดดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวบ้านในเขตพื้นที่ ม.2 และ ม.6 ต.สองคลอง ที่ประกอบอาชีพในการทำประมงชายฝั่งในการออกหาเคยเพื่อนำมาผลิตกะปิขาย ซึ่งเป็นสินค้าประจำหมู่บ้าน และเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านที่ทำกินกันมาอย่างยาวนานนับร้อยปี

นายอดุลย์ เจริญวัย อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3 ม.2 ต.สองคลอง กล่าวว่า อาชีพกางอวนรอเคยของชาวบ้านทำกะปินั้น จะต้องใช้อวนตาถี่ หรืออวนมุ้ง ที่จะดักจับเคยที่มีขนาดเล็กตามร่องน้ำไหล และจะมีเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันเท่านั้นในแต่ละเดือน ซึ่งหากมีการสั่งห้ามไม่ให้ใช้อวนตาถี่อย่างเด็ดขาดนั้น ชาวบ้านก็จะไม่สามารถประกอบอาชีพทำกินอะไรได้เลย ทั้งที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอย่างมากมาย ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าเล่าเรียนหนังสือของบุตรหลาน หากทำกินกันไม่ได้แล้วชาวบ้านรวม 2 หมู่บ้านอีกหลายร้อยครัวเรือนก็ไม่รู้ว่าจะไปทำอาชีพอะไร

สำหรับการใช้อวนรอเคยนี้ ชาวบ้านก็ไม่ได้ต้องการที่จะจับปลา หรือให้ปลาเข้าไปภายในอวน เนื่องจากจะทำให้ยุ่งยากในการคัดแยกมาทำกะปิ โดยชาวบ้านก็ต้องการเพียงเคยเท่านั้นที่จะนำมาทำเป็นกะปิได้ โดยวิธีการทำกินของชาวบ้านนั้นจะมีเวลาลงอวนคอยเคยแค่เพียงประมาณ 1 ชม.เท่านั้นตามกระแสน้ำที่เหมาะสม ซึ่งหากน้ำแรงอวนก็จะปักไม่ได้ และจะพัดพาเอาเศษผงรวมถึงเศษขยะเข้าไปภายในอวนก็จะทำให้ชาวบ้านต้องเหนื่อย และเสียเวลาในการคัดแยก

นายอดุลย์ กล่าวต่อว่า อาชีพจับเคยมาทำกะปินี้จะไม่สามารถทำได้เลยหากทางราชการกำหนดข้อกฎหมายมาแบบเหมารวมลักษณะนี้ เพราะเคยนั้นเป็นสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กมาก จึงจำเป็นที่จะต้องใช้อวนมุ้งรุนเคย และอวนรอเคยในการดักจับเท่านั้น

ด้าน นายชาตรี แก่นเจริญ อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 16/3 ผู้ใหญ่บ้าน ม.2 ต.สองคลอง กล่าวว่า สำหรับอาชีพทำกะปิของชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ได้ทำกินกันมานานแล้วนับตั้งแต่บรรพบุรุษ จนมีชื่อเสียงเป็นสินค้าโอทอป ระดับ 5 ดาวของจังหวัดฉะเชิงเทรา และได้รับรางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2544 ซึ่งหากมาตรการควบคุมเหล่านี้มีผลบังคับใช้ และไม่ได้รับการผ่อนผันเครื่องมือทำกินให้แก่ชาวบ้าน อาชีพทำกะปิที่มีชื่อเสียงของชุมชนก็จะสูญสลายหมดสิ้นไปในทันที

จากปัญหาดังกล่าวนั้นชาวบ้านก็ยังไร้อาชีพ ไร้ทิศทางที่จะหันไปประกอบอาชีพอื่นทำกินได้ เพราะมีความชำนาญเฉพาะด้านในการทำประมงชายฝั่ง ออกหาเคยมาทำกะปิที่ได้รับการตกทอดมาจากบรรพบุรุษเป็นการเฉพาะ และก็ไม่สามารถที่จะออกทะเลไปหากินไปไกลจากชายฝั่งตามที่กฎหมายกำหนดที่ 3 ไมล์ทะเลได้ เพราะเรือของชาวบ้านเป็นเพียงเรือหางขนาดเล็กที่ใช้หากินตามแนวชายฝั่งเท่านั้น ไม่ใช่เรือประมง
ลักษณะอุปกรณ์จับเคย ที่นำไปทำกะปิถูกห้ามทำกิน
กะปิ ที่ชาวบ้าน ทำมาแต่บรรพบุรุษ อาจจะต้องหยุดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น