xs
xsm
sm
md
lg

รางวัล "สุดยอดของฝากจากญี่ปุ่น" ปี2015

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติญี่ปุ่นประกาศผลรางวัล “สุดยอดของฝาก ปี 2015” ซึ่งคัดเลือกมาจากของฝากและของที่ระลึกจากทั่วแดนอาทิตย์อุทัย จำนวน 478 รายการ

ทั่วประเทศญี่ปุ่นมีของฝากและของที่ระลึกมากมายจนเลือกไม่ถูก เพราะแต่ละอย่างล้วนแต่น่ารัก น่าซื้อ น่ากิน และมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติญี่ปุ่นจึงได้จัดประกวดรางวัล “สุดยอดของฝากจากญี่ปุ่น” หรือ Japan Souvenir Grand-Prix โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกคือ มีขนาดและน้ำหนักที่เหมาะสม, การออกแบบและแนวคิด, เอกลักษณ์ท้องถิ่น, ราคา, รสชาติ, และคุณค่าด้านความสวยงามประทับใจ

รางวัล “สุดยอดของฝาก ปี 2015” ซึ่งคัดเลือกมาจากของฝากและของที่ระลึกจากทั่วแดนอาทิตย์อุทัย จำนวน 478 รายการ ได้แก่

พุดดิ้ง Kikyou Shingen ผลิตจากรายขนมชื่อดังในจังหวัดยามานาชิ พุดดิ้งสดที่หอมกลิ่นถั่วเหลืองและครีมสด เนื้อนุ่มละมุนลิ้น และยิ่งอร่อยมากขึ้นเมื่อราดด้วยน้ำเชื่อมเคี่ยวจากน้ำตาลแดง โดยบรรจุภัณฑ์ออกแบบให้เหมือนกับผ้าฟุโรชิกิ ที่ชาวญี่ปุ่นใช้ห่อของจึงสวยงามและมีเอกลักษณ์

ลูกอมซูชิ ของที่ระลึกจากนครโอซากา เป็นลูกกวาดที่ทำด้วยมือ ใส่ใจทุกรายละเอียดเพื่อให้เหมือนซูซิจริงๆ หากแต่เป็นซูซิที่ทั้งหวานหอมและสวยงาม

ซอสมิโสะ เต้าเจี้ยวญี่ปุ่นที่เป็นเครื่องปรุงที่ขาดไม่ได้ในการปรุงน้ำซุปและราเมน โดยผู้ผลิตมิโสะชื่อดังในจังหวัดฟูกุโอกะ ได้ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม รวมทั้งแนะนำเมนูใหม่ๆ เช่น ใช้มิโสะทานกับข้าวสวยร้อนๆ, ขนมปัง หรือ พาสต้า ซึ่งอร่อยไม่แพ้กัน

เครื่องแก้วจากร้านฟูจิยามะ กรุงโตเกียว เป็นเครื่องแก้วที่สืบทอดศิลปะมาตั้งแต่ยุคเอโดะ ซึ่งมีความสวยงามคล้ายคริสตัลเจียระไน โดยเอกลักษณ์ของเครื่องแก้วร้านฟูจิยามะ คือ จะมองเห็นภูเขาไฟฟูจิจำลองอยู่ที่ก้นแก้ว

ตุ๊กตาดารุมะจำลอง หรือ KD Daruma จากจังหวัดกุนมะ ดารุมะเป็นตุ๊กตาล้มลุกที่หน้าตาจะคล้ายคลึงกับพระโพธิธรรม โดยเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จ    KD Darumaได้จำลองตุ๊กตาดารุมะโดยทำจากไม้และกระดาษแข็ง แยกส่วนเป็นชิ้นๆ และให้ผู้ซื้อนำไปประกอบขึ้นเป็นตัวตุ๊กตาเอง โดยมีคู่มือภาษาอังกฤษแนะนำวิธีประกอบ

กรอบโทรศัพท์มือถือจากจังหวัดอิชิคาวะ ทำจากไม้คุณภาพดีลงรัก ปิดทอง และทาสี เป็นลวดลายแบบญี่ปุ่น เช่น ลายมังกร, ปลาคาร์ฟ และดอกซากุระ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผสมผสานเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่

“สุดยอดของฝาก” เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของของที่ระลึกจากญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวสามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าและสนามบิน หากแต่แดนอาทิตย์อุทัยยังมีผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจอีกมายมาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นต้นแบบแนวคิด “หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์” ที่ประเทศไทยนำไปประยุกต์ใช้ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถูกใจผู้ให้ ประทับใจผู้รับ อย่างแน่นอน.
กำลังโหลดความคิดเห็น