เอเอฟพี - ชาวญี่ปุ่นเกือบ 4,000 คนได้เข้าร่วมการฝึกซ้อมอพยพในวันนี้ (19 ต.ค.) เพื่อเตรียมพร้อมรับมือเผื่อกรณีที่ภูเขาไฟฟูจิอาจเกิดการปะทุขึ้นมา หลังจากที่ก่อนหน้านี้ภูเขาไฟออนทาเกะที่อยู่ใกล้ๆ เกิดการปะทุขึ้นมาจนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 56 ราย
แม้ว่าภูเขาไฟฟูจิที่มีความสูง 3,776 เมตร จะสงบมานาน หลังเกิดการปะทุครั้งล่าสุดเมื่อปี 1707 แต่นักธรณีวิทยาก็ยังใส่ชื่อภูเขาลูกนี้ให้เป็นหนึ่งในภูเขาไฟ 47 ลูก ที่เชื่อกันว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทุขึ้นมาได้อีก
เจ้าหน้าที่บริหารจัดการภัยพิบัติของจังหวัดชิสุโอกะระบุว่า ชาวบ้านประมาณ 3,900 คนจาก 26 เมืองใน 3 จังหวัดที่อยู่รอบภูเขาไฟฟูจิ ได้ร่วมกันซ้อมอพยพหนีภัยครั้งนี้
ฮายาโตะ โมชิซุกิ เจ้าหน้าที่ดูแลการซ้อมครั้งนี้บอกกับเอเอฟพีว่า ในเมืองโกเทมบะ มีชาวบ้านประมาณ 800 คน ใช้รถยนต์ของตัวเองในการอพยพผู้คนตามเส้นทางที่กำหนดไว้ เนื่องจากการใช้ระบบขนส่งสาธารณะนั้นไม่น่าไว้วางใจ
“บรรดาผู้สูงอายุที่จำเป็นจะต้องได้รับการดูแล ถูกนำตัวไปด้วยรถบัส ขณะที่พนักงานดับเพลิง ตำรวจและทหาร ได้ออกค้นหาผู้คนที่ไม่สามารถอพยพได้ทันเวลา” โมชิซุกิ กล่าว
เอริโกะ ยามาทานิ รัฐมนตรีผู้ควบคุมดูแลเรื่องบริหารจัดการภัยพิบัติ พร้อมด้วยผู้ว่าฯ ของทั้ง 3 จังหวัด ได้ร่วมประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อควบคุมดูแลปฏิบัติการฝึกซ้อมอพยพครั้งนี้
โมชิซุกิบอกว่า การซ้อมอพยพหนีภัยบริเวณภูเขาไฟฟูจิได้มีการวางแผนไว้แล้วเป็นเวลา 3 ปี แต่เนื่องจากการปะทุของภูเขาไฟออนทาเกะ ทำให้การซ้อมอพยพครั้งนี้จึงค่อนข้างจริงจังเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ภูเขาไฟออนทาเกะซึ่งอยู่ห่างจากภูเขาไฟฟูจิไปประมาณ 120 กิโลเมตร ได้เกิดปะทุขึ้นมาโดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 56 รายและสูญหายอย่างน้อยอีก 7 ราย นับว่าเป็นการปะทุที่รุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 90 ปีของประเทศญี่ปุ่น
การฝึกซ้อมอพยพหนีภัยบริเวณภูเขาไฟฟูจิครั้งนี้ เป็นการซ้อมใหญ่แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยการจำลองสถานการณ์ว่า มีการปะทุที่ความสูง 2,000 เมตร เวลา 11.00 น. ขณะที่ฝุ่นควันและขี้เถ้ากระจายไปไกลกว่า 20 กิโลเมตร พร้อมทั้งมีลาวาไหลออกมาจากปากปล่องภูเขาไฟ
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า มีการนำบล็อกคอนกรีตมากกว่า 20 แท่ง แต่ละแท่งมีน้ำหนักประมาณ 2 ตัน มาวางสกัดไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลาวาไหลเข้าสู่พื้นที่เขตเมือง
เจ้าหน้าที่ได้ประเมินว่า หากภูเขาไฟฟูจิมีการปะทุในระดับเดียวกับสถานการณ์จำลองครั้งนี้ ประชาชนใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชิซุโอกะ ยามานาชิ และคานากาวะ จำนวนรวมกว่า 470,000 คนจะต้องถูกสั่งให้อพยพเพื่อหนีจากขี้เถ้าภูเขาไฟ
ขณะที่ลาวาจำนวนมหาศาลจะทำให้ชาวบ้านกว่า 689,000 คน ต้องหาที่หลบภัย อีกทั้งยังทำให้ระบบคมนาคมสำคัญๆ ต้องถูกตัดขาด อาทิ รถไฟความเร็วสูง และทางด่วนสายที่วิ่งขนานไปกับชายฝั่งทะเลแปซิฟิก
ซาจิโกะ คัตซึมาตะ หญิงชราผู้พิการทางร่างกายวัย 65 ปี ได้บอกกับสำนักข่าวจิจิ ว่าเธอเข้าร่วมการฝึกซ้อมครั้งนี้ด้วย เพราะเธออยากให้แน่ใจว่าจะสามารถรับมือกับเหตุฉุกเฉินได้ทันท่วงที
“ตอนที่ได้เห็นภูเขาไฟออนทาเกะปะทุ ฉันรู้สึกได้เลยว่าเหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน” เธอกล่าว