xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: “ออนทาเกะ” พิโรธกลืนชีวิตเกือบ 50 ศพ! ญี่ปุ่นจับตา “ฟูจิ” อาจเป็นลูกต่อไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความงดงามของภูเขาไฟฟูจิอาจแฝงไปด้วยภัยร้ายจากการระเบิดครั้งใหญ่ที่รอวันมาถึงในอีกไม่ช้า
การปะทุอย่างรุนแรงของภูเขาไฟออนทาเกะ (Ontake) ทางภาคกลางของญี่ปุ่นเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งได้คร่าชีวิตนักปีนเขาไปแล้วเกือบ 50 ศพ กลายเป็นสัญญาณร้ายที่เตือนให้ชาวญี่ปุ่นได้ตระหนักถึงสถานภาพอันเปราะบางและสุ่มเสี่ยงของภูเขาไฟซึ่งมีอยู่นับร้อยลูกในประเทศ รวมถึง “ฟูจิ” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของแดนอาทิตย์อุทัย

ปล่องภูเขาไฟออนทาเกะยังคงมีก๊าซและเถ้าถ่านพวยพุ่งออกมาอย่างต่อเนื่องหลังเกิดการปะทุแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยเมื่อช่วงเที่ยงวันเสาร์ที่ 27 กันยายน จันทร์ (29) ขณะที่หน่วยกู้ภัยต้องใช้ความพยายามอย่างสูงที่จะเข้าไปค้นหาร่างผู้สูญหายที่เชื่อว่าน่าจะติดอยู่บริเวณยอดเขา

ออนทาเกะเป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่ยังมีพลังทั้งหมด 110 ลูกที่ตั้งกระจัดกระจายอยู่ทั่วหมู่เกาะญี่ปุ่น หนึ่งในนั้นก็คือภูเขาไฟฟูจิซึ่งสูงที่สุดในประเทศ และเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 13 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปปีนป่ายสู่ยอดเขาปีละไม่ต่ำกว่า 300,000 คน

ที่ตั้งของภูเขาไฟฟูจิซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปเพียงราวๆ 100 กิโลเมตรทำให้หลายฝ่ายหวั่นวิตก เนื่องจากภูเขาไฟลูกนี้ถูกจัดอยู่ในรายชื่อภูเขาไฟ 47 ลูกที่สุ่มเสี่ยงต่อการปะทุในช่วง 1 ศตวรรษหน้า

แม้ว่าทางการญี่ปุ่นจะเฝ้าสังเกตกิจกรรมภูเขาไฟอย่างใกล้ชิด ทว่าหลังเกิดเหตุการณ์อันไม่คาดคิดดังเช่นการระเบิดของภูเขาไฟออนทาเกะซึ่งสงบนิ่งมานานถึง 35 ปี ก็ทำให้ญี่ปุ่นได้ตระหนักว่า การจะคาดเดาธรรมชาตินั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

โทชิซึกุ ฟูจิอิ ผู้อำนวยการสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ระบุว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (27) เกินกว่าที่เทคโนโลยีที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันจะทำนายล่วงหน้าได้”

ก่อนหน้าที่ออนทาเกะจะพ่นเถ้าถ่านและหินร้อนออกมาปกคลุมท้องฟ้า ทางการญี่ปุ่นได้ประกาศเตือนความเสี่ยงของภูเขาไฟลูกนี้ไว้แค่ระดับ 1 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดของมาตรวัดความเสี่ยงซึ่งมีทั้งหมด 5 ระดับ

ระดับ 5 ซึ่งหมายถึง “อันตรายสูงสุด” นั้นกำหนดให้ต้องการอพยพประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองใกล้เคียงภูเขาไฟ ส่วนระดับ 1 ซึ่งต่ำที่สุดหมายถึงไม่มีข้อจำกัดใดๆ เป็นพิเศษสำหรับนักปีนเขา

ภูเขาไฟฟูจิเองก็ถูกเตือนความเสี่ยงไว้ที่ระดับ 1

ปัจจุบันทางการญี่ปุ่นได้ยกระดับเตือนภัยภูเขาไฟออนทาเกะขึ้นสู่ระดับที่ 3 และได้เตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้ภูเขาไฟลูกนี้

จากรายงานการศึกษาของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนมิถุนายน ร้อยละ 80 ของพื้นที่ซึ่งมีผู้คนอยู่อาศัยและเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการระเบิดของภูเขาไฟซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียง ยังไม่ได้เตรียมแผนการอพยพประชาชนไว้เลย

จังหวัดชิซุโอกะซึ่งเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟฟูจิได้เตรียมแผนรับมือในกรณีที่แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งนี้ตื่นจากความหลับใหลอีกครั้ง โดยมีการโพสต์คำแนะนำสำหรับชาวบ้านในท้องถิ่นไว้บนเว็บไซต์ของทางจังหวัดด้วย
การปะทุของภูเขาไฟออนทาเกะในจังหวัดนากาโน ทางภาคกลางของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27 กันยายน
“ขณะนี้เรายังไม่พบสัญญาณบ่งชี้กิจกรรมของภูเขาไฟ แต่หากเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ขึ้น ฟูจิจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงยิ่งกว่าภูเขาไฟลูกอื่นๆ โดยส่งผลกระทบต่อหลายๆ ภูมิภาค รวมถึงกรุงโตเกียวและจังหวัดที่ตั้งอยู่โดยรอบ” แผนอพยพประชาชนความยาว 60 หน้ากระดาษซึ่งจัดทำโดยจังหวัดชิซุโอกะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ระบุ

นอกจากความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียงแล้ว การระเบิดของภูเขาไฟฟูจิอาจส่งผลให้เส้นทางรถไฟและถนนสายหลักที่เชื่อมระหว่างกรุงโตเกียวและนครโอซากาถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของแดนอาทิตย์อุทัย

ที่ตั้งของหมู่เกาะญี่ปุ่นก็คือจุดที่แผ่นเปลือกโลก 4 แผ่นมาบรรจบกันพอดี ดังนั้นจึงมีแผ่นดินไหวรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยๆ ซึ่งแต่ละครั้งก็อาจกระตุ้นให้ภูเขาไฟที่ยังมีพลังอย่างออนทาเกะและฟูจิเกิดปะทุขึ้นมาได้ทุกเมื่อ

“แผ่นดินไหวที่รุนแรงขนาดวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 ยิ่งทำให้ภูเขาไฟในภูมิภาคนี้เสี่ยงที่จะระเบิดสูงขึ้น เนื่องจากมีการสะสมตัวของแมกมา” ฟูจิอิ กล่าวไว้เมื่อปี 2012

ปรากฏการณ์เช่นนี้คือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อคราวที่ภูเขาไฟฟูจิปะทุครั้งล่าสุดเมื่อ 300 ปีก่อน

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1707 หรือเพียง 48 วันหลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.6 ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น การปะทุรุนแรงซึ่งแทบไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ก็ได้อุบัติขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันคำนวณว่า ครั้งนั้นภูเขาไฟฟูจิพ่นกลุ่มควันและเถ้าถ่านสูงขึ้นไปในอากาศถึง 23 กิโลเมตร เถ้าถ่านเหล่านี้ได้บดบังแสงอาทิตย์ ทำให้ท้องฟ้ามืดครึ้มไปไกลถึงเมืองเอโดะซึ่งก็คือกรุงโตเกียวในปัจจุบัน และแรงระเบิดยังทำให้ชั้นหินฉีกขาดจนเกิดปากปล่องภูเขาไฟใหม่ที่บริเวณลาดเขาอีกด้วย

แม้จะไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการปะทุครั้งนั้น อีกทั้งไม่มีธารลาวาไหลออกมาจากปากปล่อง แต่เถ้าถ่านภูเขาไฟฟูจิก็ได้ตกลงมาปกคลุมพื้นที่เกษตรกรรมโดยรอบ ส่งผลให้ประชาชนในท้องถิ่นเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร

ปัจจุบันนี้ ภูเขาไฟในญี่ปุ่นที่ถูกประกาศเตือนความเสี่ยงระดับ 3 มีอยู่ทั้งสิ้น 47 ลูก, ระดับ 2 จำนวน 5 ลูก (หมายถึงอันตรายหากเข้าไปใกล้ปากปล่อง) ส่วนที่เหลือเตือนความเสี่ยงเพียงขั้นที่ 1 หรือถูกจัดให้ไม่มีความเสี่ยงเลย

ภูเขาไฟซึ่งทำให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญจากสำนักอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นเป็นกังวลมากที่สุด คือ หมู่เกาะมิยาเกจิมะ, อิโวโตะ และ นิชิโนะชิมา
หน่วยกู้ภัยลำเลียงศพนักปีนเขาที่เสียชีวิตจากการปะทุของภูเขาไฟออนทาเกะลงมายังพื้นราบ
เถ้าถ่านที่ปกคลุมกระท่อมและวัดชินโตบริเวณภูเขาไฟออนทาเกะ
กำลังโหลดความคิดเห็น