ผู้บริหารวัย 45 ปี เสี่ยงอ้วนลงพุง พ่วงโรคเรื้อรังเพียบ เหตุนั่งประชุมบ่อย เผาผลาญน้อย
โดย MGR Online
21 มีนาคม 2559 17:35 น. (แก้ไขล่าสุด 22 มีนาคม 2559 10:31 น.)
ผู้บริหารวัย 45 ปี เสี่ยงอ้วนลงพุง พ่วงโรคเรื้อรังเพียบ เหตุนั่งประชุมบ่อย เผาผลาญน้อย
นายสง่า ดามาพงษ์ ภาพจาก สสส.
กลุ่มผู้บริหารวัย 45 ปีขึ้นไปเสี่ยงโรคอ้วนลงพุง พ่วงโรคเรื้อรังอีกเพียบ เหตุนั่งประชุมบ่อย ร่างกายเผาผลาญน้อย สะสมไขมัน ไม่ออกกำลังกาย นักโภชนาการจี้ สธ.เข้มโครงการผู้บริหารไร้พุง แนะปรับของว่างระหว่างประชุมให้พลังงานไม่เกิน 150 กิโลแคลอรี มีลุกขึ้นยืดเหยียดเป็นระยะ
นายสง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการโภชนาการ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงกรณีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาประกาศนโยบาย ผู้บริหาร สธ.ไร้พุง มุ่งสู่สุขภาพดี เพื่อเป็นต้นแบบให้แก่บุคลากรในองค์กร และองค์กรอื่นๆ ว่า เรื่องนี้ต้องขอชื่นชม เพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย ซึ่งกลุ่มนักบริหารอายุ 45 ปีขึ้นไปถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุง และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่จะตามมาทั้งหลาย เนื่องจากเป็นวัยที่การเผาผลาญพลังงานลดลง เก็บไว้ในรูปของไขมันสะสมในร่างกาย อีกทั้งมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ผู้บริหารส่วนใหญ่จะนั่งประชุม กินดี อยู่ดีมากขึ้น มีงานเลี้ยงบ่อย และที่สำคัญอ้างว่างานยุ่ง เลยไม่มีเวลาออกกำลังกาย ทั้งหมดคือความเสี่ยงของผู้บริหาร และคนวัยทำงาน
“คนใน สธ.ตระหนักดีว่าอ้วนลงพุง คือ ต้นเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในหลอดเลือด หัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น ซึ่ง สธ.ต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการดูแลรักษา ดังนั้น สธ.ต้องทำอย่างจริงจัง เพราะเชื่อว่ามีหลายหน่วยงานจับตาดูอยู่ โดยจะต้องสร้างแรงจูงใจให้คนในองค์กรเกิดความฮึกเหิมที่อยากจะลดอ้วนลดพุงอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยในองค์กรให้เอื้อต่อการกินอาหารและออกกำลังกายเพื่อลดพุง โดยเฉพาะเรื่องของแรงจูงใจเป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องสร้างขึ้นเอง ไม่ใช่ทำเพราะโดนบังคับขู่ หรือขอร้องจากผู้บังคับบัญชา หรือทำตามหน้าที่ เพราะจะทำเพื่ออวดกัน แต่ไม่ยั่งยืน นอกจากนี้ ควรมีมาตรการเสริม ออกกฎระเบียบ มีการสร้างกระแส และเคลื่อนไหวสังคมตลอดเวลา จะทำให้คนในองค์กรหันมาปฏิบัติตาม 3 อ.ได้ และถ้ามุ่งสร้างอย่างต่อเนื่องติดต่อกันภายใน 1-2 ปี จะนำไปสู่ความสำเร็จของการลดพุงที่ยั่งยืนได้” นายสง่า กล่าว
นายสง่า กล่าวว่า การสร้างปัจจัยเอื้อต่อการลดพุง เช่น ปรับเปลี่ยนชนิดอาหารว่างที่เสิร์ฟในระหว่างประชุมให้เป็นมิตรต่อสุขภาพ ให้พลังงานไม่เกิน 150 แคลอรี มีการลุกขึ้นยืดเหยียดเป็นระยะๆ ในช่วงการประชุม หรือระหว่างทำงาน การจัดอบรมผู้ที่จัดอาหารว่าง และอาหารมื้อกลางวันให้ผู้บริหาร เพื่อให้มีทักษะต่อการจัดอาหารที่มีคุณค่า อร่อย แต่ให้พลังงานที่พอดี และสมดุล อบรมพัฒนาความรู้ผู้ขายอาหารในโรงอาหาร การออกกฎระเบียบการนำอาหารมาจำหน่าย การใช้โรงอาหารเป็นแหล่งเรียนรู้ในการกินอาหาร และออกกำลังกาย
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่