xs
xsm
sm
md
lg

กิน “ข้าวโพด” พร้อม “ข้าว” ระวังอ้วน!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ข้าวโพดฝักจัดเป็นอาหารกลุ่มข้าว - แป้ง มีคาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งให้พลังงานแก่ร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีวิตามินเอมากเป็นพิเศษ เส้นใยอาหาร และแร่ธาตุชนิดต่างๆ หลายชนิด อย่างไรก็ตาม ข้าวโพดแต่ละสีจะมีสารอาหารและสารอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายต่างกันด้วย โดยข้าวโพดสีเหลืองจะมีวิตามินเอสูง เบตาแคโรทีน ข้าวโพดสีม่วง จะมีแอนโทไซยานินสูง ซึ่งมีคุณสมบัติในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระ โดยข้าวโพดฝักสามารถกินแลกเปลี่ยนกับอาหารชนิดอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกัน คือ ข้าวสวย ข้าวเหนียว ขนมจีน เส้นก๋วยเตี๋ยว กลอยและแป้งชนิดต่างๆ เป็นต้น

นพ.พรเทพ กล่าวว่า แต่ที่สำคัญคือไม่ควรบริโภคข้าวโพดพร้อมกับข้าว หรืออาหารกลุ่มเดียวกันในมื้อเดียวกัน เนื่องจากเป็นแป้งและให้คาร์โบไฮเดรตเช่นเดียวกัน จะทำให้ได้รับมากเกินจำเป็น เมื่อถูกย่อยเป็นน้ำตาลกลูโคสแล้วร่างกายใช้ไม่หมด ก็จะถูกเปลี่ยนสภาพกลายเป็นไขมันทำให้อ้วนตามมาได้ ดังนั้น หลักการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีคือ ให้กินข้าวเป็นอาหารหลักสลับกับแป้งเป็นบางมื้อ ถ้าหากมื้อไหนกินข้าวโพดแล้ว ควรลดข้าว-แป้งลงด้วย

“หากกินข้าวแล้วยังกินข้าวโพดต่ออีกแค่เพียงฝักเดียวก็ได้คาร์โบไฮเดรตเกินทันที การกินจึงควรไม่กินร่วมกัน แต่หากจะกินร่วมกันอาจจะต้องลดปริมาณลงมา เช่น ข้าว 1 ทัพพี ข้าวโพดจากฝักแกะออกมาให้เมล็ดไม่เกิน 1 ทัพพี เป็นต้น แต่หากเป็นวัยที่ใช้พลังงานสูง เช่น วัยเด็กที่กำลังเจริญเติบโต ก็อาจจะกินข้าวโพดร่วมกันได้ไม่เกิน 2 ทัพพี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวและว่า ดังนั้น ควรซื้อข้าวโพดในปริมาณที่เพียงพอจะประกอบอาหารแต่ละครั้ง หากใช้ไม่หมดควรนำไปนึ่งหรือต้มสุก 10 นาที ทิ้งให้เย็น ฝานเอาแต่เมล็ด เก็บใส่ภาชนะปิดสนิทนำเข้าช่องแช่แข็ง เพราะหากเก็บข้าวโพดดิบในตู้เย็นนานเกินไป เมล็ดข้าวโพดจะลีบแบนเพราะสูญเสียน้ำ

นพ.พรเทพ กล่าวว่า การกินข้าวโพดควรกินข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวมาใหม่ๆ เพราะจะมีคุณภาพและรสชาติหวานกว่าข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวแล้วเก็บไว้นานจะจืด และเหนียวขึ้น สำหรับการกินอาหารในแต่ละมื้อ ควรเลือกกินอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนและเพียงพอ นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันการได้รับสารพิษอีกทางหนึ่ง รวมทั้งออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้สุขภาพดี
กำลังโหลดความคิดเห็น