xs
xsm
sm
md
lg

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการโพสต์เฟซบุ๊ก 10 ประการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในการโพสต์เฟซบุ๊ก 10 ประการ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

การโพสต์เฟซบุ๊กที่อาจสร้างความรำคาญให้แก่ผู้อื่นที่ควรหลีกเลี่ยงทั้ง 10 ประการ

ในยุคที่ใคร ๆ ก็เล่นเฟซบุ๊กกันเช่นนี้ ยังคงสามารถพบเห็นโพสต์ต่าง ๆ ที่ดูไม่เหมาะสม หรือสร้างความรำคาญให้กับผู้อื่นกันได้อยู่พอสมควร วันนี้ (7 พ.ค. 57) กระปุกดอทคอมจึงได้นำบทความโพสต์เฟซบุ๊กที่ควรหลีกเลี่ยงทั้ง 10 ประการจากเว็บไซต์ PR Daily มาให้ได้อ่านกันจ้า

1. รูปภาพที่ไม่น่ามอง

การโพสต์รูปภาพคนป่วย ศพ อุบัติเหตุ สัตว์ถูกทำร้าย และอื่น ๆ ที่มองเห็นศพ, บาดแผลหรือเลือดชัดเจน ไม่น่ามอง ไม่เจริญหูเจริญตา ซึ่งบางครั้งผู้โพสต์อาจต้องการให้คนที่ได้เห็นรู้สึกสงสารบุคคลในรูป แต่แท้จริงแล้วกลับทำให้ผู้ที่ได้เห็นรู้สึกแย่มากกว่า

2. โพสต์ขายของ แท็กโฆษณา

การโพสต์โฆษณาขายสินค้าหรือบริการต่าง ๆ โดยเฉพาะการแท็กชื่อผู้อื่นลงไปในโพสต์เพื่อตั้งใจให้มีคนมาเห็นการโพสต์นั้น ๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างความรำคาญให้แก่ผู้อื่นเป็นอย่างมาก

3. โพสต์ลูกโซ่ เรียกไลค์, แชร์

การโพสต์เนื้อหาที่ต้องการร้องขอให้คนช่วยกันแชร์หรือกดไลค์ เช่น โพสต์รูปคนพิการเพื่อขอให้คนสงสารและช่วยกันแชร์ (แต่แชร์ไปคนพิการก็ไม่ได้อะไร) หรือโพสต์รูปภาพเด็กป่วยเพื่อให้คนช่วยกดไลค์หรือแชร์แล้วเด็กจะได้เงิน (ซึ่งแท้จริงแล้วเด็กไม่ได้เงินเลยแม้แต่นิดเดียว)

4. ชวนเล่นเกม

การแชร์หรือส่งคำเชิญชวนให้เล่นเกมเฟซบุ๊ก อาจเป็นการสร้างความรำคาญให้กับคนที่ไม่สนใจหรือไม่อยากเล่นเกมเฟซบุ๊กได้ ก่อนจะชวนใครเล่นเกมควรดูเสียก่อนว่าบุคคลนั้นน่าจะสนใจเกมดังกล่าวหรือไม่

5. เรื่องเกี่ยวกับศาสนา

เนื่องจากคนแต่ละคนก็มีความเชื่อในเรื่องศาสนาที่ต่างกัน จึงไม่ควรโพสต์เนื้อหาที่แสดงความขัดแย้งระหว่างศาสนามากเกินไป อาจทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกแย่กับผู้โพสต์ได้

6. เรื่องการเมือง

การโพสต์เรื่องการเมืองโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรงหรือด่าทอฝ่ายตรงข้าม อาจทำให้ผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างเกิดการไม่พอใจหรืออาจทำให้ทะเลาะเบาะแว้งกันได้ จึงควรหรือเลี่ยงการแสดงความเห็นที่รุนแรง

7. โพสต์ลามก หยาบคาย

เฟซบุ๊กนั้นถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ เพราะฉะนั้นการโพสต์เนื้อหาที่มีข้อความหยาบคายมาก ๆ รวมทั้งรูปภาพที่ค่อนข้างล่อแหลมย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างแน่นอน

8. โพสต์เตือนภัยที่ยังเชื่อถือไม่ได้

การโพสต์เตือนภัยอันตรายต่าง ๆ ทั้งภัยพิบัติหรืออาหารที่เป็นอันตราย ฯลฯ ซึ่งยังไม่เป็นที่ยืนยันแน่ชัด และยังไม่สามารถเชื่อถือได้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดและตื่นตระหนกได้ จึงควรตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดก่อนว่าน่าเชื่อถือหรือไม่

9. โพสต์ไม่เคลียร์ ชวนสงสัย

การโพสต์ข้อความที่ไม่มีความหมายชัดเจน อ่านแล้วไม่เข้าใจว่าต้องการสื่อถึงอะไร เช่น "อารมณ์เสีย" (อารมณ์เสียเรื่องอะไร?) หรือ "หงุดหงิดจัง" (หงุดหงิดเรื่องอะไร?) ทำให้ผู้ที่ได้อ่านรู้สึกสงสัยว่าผู้โพสต์ต้องการจะสื่ออะไรกันแน่

10. ข้อมูลที่ไม่มีที่มา

การโพสต์กล่าวถึงเนื้อหาหรือสิ่งที่น่าสนใจจากเว็บไซต์หนึ่ง แต่กลับไม่มีการบอกอ้างอิงที่มาหรือลิงก์เว็บไซต์ของข้อมูลนั้น ๆ ทำให้ผู้ที่ได้อ่านไม่สามารถเข้าไปดูข้อมูลต้นฉบับได้ เหมือนเป็นการปล่อยข่าวลอย ๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น