รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานจัดการประชุมฯ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของความหลากหลายของผักและผลไม้ แต่จากรายงานโครงการศึกษาวิจัยแผนการลงทุนด้านสุขภาพในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) พบว่า คนไทยมากกว่า ร้อยละ 75 บริโภคผักและผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน สอดคล้องกับผลการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 76.2 บริโภคผักเฉลี่ยต่อวัน ต่ำกว่าข้อแนะนำมาตรฐานที่ให้บริโภค วันละ 3 ส่วน และร้อยละ 71.8 บริโภคผลไม้เฉลี่ยต่อวันต่ำกว่าข้อแนะนำมาตรฐานที่ให้บริโภควันละ 2 ส่วน
“การบริโภคผักและผลไม้น้อยในคนไทยเป็นสาเหตุของภาระโรคในอันดับต้นๆก่อให้เกิดการสูญเสียทางสุขภาพ ส่งผลต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งมีการศึกษาวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าการบริโภคผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ ร้อยละ 33 และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้ ร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับคนที่บริโภคผักและผลไม้น้อยกว่า” รศ.ดร.วิสิฐ กล่าว
รศ.ดร.วิสิฐ กล่าวว่า แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะมีการรณรงค์ให้คนไทยบริโภคผักและผลไม้มากขึ้น แต่คนไทยยังบริโภคผักและผลไม้น้อยลง เพราะพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป จากอดีตที่อาหารไทยมักมีผักเป็นส่วนประกอบโดยเฉพาะผักพื้นบ้าน ทั้งผักเคียงจิ้มน้ำพริก และผักในแกงต่างๆ ได้เปลี่ยนไปเป็นการบริโภคอาหารจานด่วนที่ไม่มีผักเป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้ขาดความสมดุลของสารอาหาร ดังนั้น การที่สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการแห่งชาติด้านอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพ ครั้งที่ 1 ในครั้งนี้ จะช่วยสร้างแรงกระตุ้นและแนวคิดในการเพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ในคนไทยได้อย่างปลอดภัยและมั่นคง โดยมีการนำเสนอข้อมูลเรื่องการบริโภคเพื่อสุขภาพ การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การเข้าถึงแหล่งของผักและผลไม้ปลอดภัย เป็นต้น