xs
xsm
sm
md
lg

แนะกินผัก-ผลไม้มากกว่า 400 กรัมต่อวัน ลดป่วยมะเร็ง 50% หัวใจ 33%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนไทยกินผัก-ผลไม้น้อย ผลศึกษาชี้ชัดกว่า 75% กินผัก-ผลไม้ ไม่ถึง 400 กรัมต่อวัน ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน WHO ทำร่างกายขาดสมดุล ป่วยโรคเรื้อรัง แนะกินให้มากขึ้นลดป่วยมะเร็ง 50% ลดโรคหัวใจ 33%
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (16 ม.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น.ที่โรงแรมเอส 31 ผศ.สุรกิจ นาฑีสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการแห่งชาติด้านอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพ ครั้งที่ 1 เรื่อง “ผักและผลไม้เพื่อความมั่นคงทางโภชนาการ” จัดโดยสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีนักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติด้านโภชนาการ การเกษตร วิทยาศาสตร์การอาหาร และด้านสุขภาพ ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์การพัฒนาเอกชน ร่วมประชุม 320 คน

รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานจัดการประชุมฯ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของความหลากหลายของผักและผลไม้ แต่จากรายงานโครงการศึกษาวิจัยแผนการลงทุนด้านสุขภาพในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550-2554) พบว่า คนไทยมากกว่า ร้อยละ 75 บริโภคผักและผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน สอดคล้องกับผลการสำรวจสภาวะสุขภาพอนามัยของประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2551-2552 พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 76.2 บริโภคผักเฉลี่ยต่อวัน ต่ำกว่าข้อแนะนำมาตรฐานที่ให้บริโภค วันละ 3 ส่วน และร้อยละ 71.8 บริโภคผลไม้เฉลี่ยต่อวันต่ำกว่าข้อแนะนำมาตรฐานที่ให้บริโภควันละ 2 ส่วน

การบริโภคผักและผลไม้น้อยในคนไทยเป็นสาเหตุของภาระโรคในอันดับต้นๆก่อให้เกิดการสูญเสียทางสุขภาพ ส่งผลต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งมีการศึกษาวิจัยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าการบริโภคผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ ร้อยละ 33 และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้ ร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับคนที่บริโภคผักและผลไม้น้อยกว่า” รศ.ดร.วิสิฐ กล่าว

รศ.ดร.วิสิฐ กล่าวว่า แม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะมีการรณรงค์ให้คนไทยบริโภคผักและผลไม้มากขึ้น แต่คนไทยยังบริโภคผักและผลไม้น้อยลง เพราะพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป จากอดีตที่อาหารไทยมักมีผักเป็นส่วนประกอบโดยเฉพาะผักพื้นบ้าน ทั้งผักเคียงจิ้มน้ำพริก และผักในแกงต่างๆ ได้เปลี่ยนไปเป็นการบริโภคอาหารจานด่วนที่ไม่มีผักเป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้ขาดความสมดุลของสารอาหาร ดังนั้น การที่สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการแห่งชาติด้านอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพ ครั้งที่ 1 ในครั้งนี้ จะช่วยสร้างแรงกระตุ้นและแนวคิดในการเพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ในคนไทยได้อย่างปลอดภัยและมั่นคง โดยมีการนำเสนอข้อมูลเรื่องการบริโภคเพื่อสุขภาพ การป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การเข้าถึงแหล่งของผักและผลไม้ปลอดภัย เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น