นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 19 พฤศจิกายน ทุกปี องค์การส้วมโลก กำหนดให้เป็น “วันส้วมโลก” (world toilet day) เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการรณรงค์กิจกรรมต่างๆ ให้ประชาชน ตระหนักถึงความสำคัญของความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วมมากขึ้น เนื่องจากเป็นสถานที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันของคนเรา ในการขับถ่ายของเสียที่ออกจากร่างกายในส่วนของประเทศไทยขณะนี้ ซึ่งมีครัวเรือนกว่า 20 ล้านครัวเรือน มีสมาชิกเฉลี่ยครัวเรือนละ 3.2 คน ผลสำรวจพบว่าร้อยละ 98 มีส้วมถูกหลังสุขาภิบาลใช้
โดยภายใน พ.ศ. 2559 กระทรวงสาธารณสุข มีแผนรณรงค์ให้ประชาชนไทยใช้ส้วมชนิดนั่งราบให้มากขึ้น เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และป้องกันโรคข้อเข่าเสื่อม จากการนั่งงอเข่าเป็นเวลานาน โดยตั้งเป้าจะให้ครอบคลุมส้วมสาธารณะให้ได้ร้อยละ 90 ส่วนในบ้านเรือนทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ขณะนี้ประมาณร้อยละ 80 จะใช้ส้วมชนิดนั่งยอง จะสนับสนุนให้ใช้อุปกรณ์เสริม เช่น ใช้เก้าอี้เจาะรูตรงกลาง ให้นั่งสะดวกสบายขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือที่ผู้เจ็บป่วยมีโรคประจำตัวและหากมีความพร้อมทางเศรษฐกิจก็อาจเปลี่ยนเป็นส้วมชนิดนั่งราบได้
นายสรวงศ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดี กรมอนามัยได้สุ่มสำรวจห้องส้วมสาธารณะ เช่น ปั้มน้ำมัน วัด ล่าสุดในปี 2555 พบว่าต้องเพิ่มการดูแลความสะอาดส้วมให้มากขึ้น เนื่องจากพบว่ามีการปนเปื้อนอุจจาระถึง 6 จุด พบมากที่สุดคือที่จับสายฉีดน้ำชำระร้อยละ 85 รองลงมา คือบริเวณพื้นร้อยละ 50 ที่รองนั่งโถส้วมร้อยละ 31 ที่กดน้ำของโถส้วมและโถปัสสาวะ พบร้อยละ 8 ก๊อกน้ำล้างมือ พบร้อยละ 7 และที่กลอนประตูพบร้อยละ 3 ดังนั้นจึงขอความร่วมมือเจ้าของหรือผู้ดูแลความสะอาดส้วมในสถานที่ดังกล่าวให้เพิ่มความถี่ในการดูแลความสะอาดโดยเฉพาะจุดที่พบการปนเปื้อนดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีกลิ่นเหม็น และไม่เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค
ทางด้าน นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้รณรงค์ปลูกฝัง ให้ประชาชนใช้ส้วมอย่างถูกต้อง เริ่มตั้งแต่วัยเด็กโดยร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จัดหลักสูตรการสอนการใช้ส้วมให้เด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาทั่วประเทศ
"โดยปลูกฝัง 4 พฤติกรรมหลักได้แก่ 1.นั่งบนโถส้วม 2.ไม่ทิ้งวัสดุอื่นนอกจากกระดาษชำระลงในโถส้วม 3.ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม เนื่องจากในอุจจาระหรือปัสสาวะของมนุษย์ มีเชื้อโรคเปื้อนจำนวนมาก เป็นแหล่งอาหารของแมลงวัน ซึ่งเป็นพาหะนำโรค และบ่งบอกสุขวิทยาส่วนบุคคลของผู้ใช้ส้วม และ 4. ล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังการใช้ส้วมเพื่อกำจัดอุจจาระหรือเชื้อโรคที่อาจติดมากับมือหลังขับถ่ายและหวังผลให้นักเรียนนำไปถ่ายทอดสู่สมาชิกในครอบครัวต่อไป จะช่วยส่งผลให้ประเทศไทยสามารถควบคุมป้องกันโรคระบบทางเดินอาหารได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป"