xs
xsm
sm
md
lg

เมืองกรุงเก่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมือกรุงเก่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว มีคนแก่ 16.24% จากประชากรทั้งหมด กรมอนามัยเดินหน้าแจกฟันเทียมตามโครงการฟันเทียมพระราชทานให้ผู้สูงวัยชาวกรุงเก่า 100 คน แก้ปัญหาเคี้ยวอาหารไม่ได้

วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมโรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังพิธีมอบฟันเทียมพระราชทาน ว่า จากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 ปี 2555 พบว่า ผู้สูงอายุจำเป็นต้องใส่ฟันทั้งปากลดลงจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 2.5 แต่ถ้าคิดตามประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็ยังเป็นปริมาณที่สูง ประมาณ 236,000 ราย และพบความต้องการสูงสุดในภาคใต้ รองลงมาเป็นภาคกลาง นอกจากนี้ยังพบว่าความต้องการใส่ฟันเทียมบางส่วนร้อยละ 72.7 โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันทั้งปากได้รับบริการใส่ฟันเทียมพระราชทานเกือบ 300,000 ราย เฉลี่ยปีละ 35,000 ราย ซึ่งกรมอนามัยยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันทั้งปากและบางส่วนไปพร้อมๆ กัน ลดการสูญเสียฟันให้มากขึ้น ด้วยการบูรณาการกับโครงการส่งเสริมสุขภาพด้านอื่นๆ เช่น ตำบลการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว วัดส่งเสริมสุขภาพ เป็นต้น เพื่อให้บรรลุเกณฑ์ด้านทันตสุขภาพในมาตรฐานผู้สูงอายุพึงประสงค์ คือมีฟันใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า โครงการฟันเทียมพระราชทานได้รับการสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งจากมูลนิธิโอสถสภาที่เห็นความสำคัญของการมีฟันใช้เคี้ยวอาหาร โดยจัดบริการใส่ฟันเทียมทั้งปากแก่ผู้สูงอายุเพิ่มเติมให้กับจังหวัดๆ ละ 100 ราย ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ซึ่ง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นจังหวัดที่ 18 ที่ได้ดำเนินการมอบฟันเทียมพระราชทาน เนื่องจากขณะนี้ จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีประชากรสูงอายุคิดเป็นร้อยละ 16.24 จากประชากรทั้งหมด มีคลินิกผู้สูงอายุให้บริการในโรงพยาบาลทั้ง 16 แห่ง มีชมรมผู้สูงอายุในพื้นที่ที่มีการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง มีการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในตำบลต้นแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระยะยาว หรือ Long Term Care

พระนครศรีอยุธยาเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่เข้มแข็งในการดำเนินงานโครงการฟันเทียมพระราชทาน โดยในปีนี้จังหวัดยังมีโครงการสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพช่องปากและป้องกันโรคแบบผสมผสานสำหรับผู้สูงอายุ อาทิ กิจกรรมสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพช่องปากในชมรมผู้สูงอายุและหน่วยบริการภาครัฐ ให้บริการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก การส่งต่อเพื่อรับบริการทันตกรรมป้องกันตามชุดสิทธิประโยชน์ รวมทั้งสนับสนุนการแก้ปัญหาผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันทั้งปาก ด้วยการใส่ฟันเทียมพระราชทาน และสำหรับผู้ที่ใส่ฟันเทียมแล้วหลวมได้จัดบริการทำรากฟันเทียมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเคี้ยวอาหาร ทำให้ผู้สูงอายุในจังหวัดมีฟันใช้บดเคี้ยวอาหารครบ 4 คู่ในฟันหลังเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 46 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 53 ในปี 2554” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น