xs
xsm
sm
md
lg

นายใหญ่กาชาดสากลคุย “มินอ่องหล่าย” เพิ่มการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ขัดแย้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ประธานกาชาดสากลได้กดดันผู้นำรัฐบาลทหารพม่าให้เพิ่มการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งของประเทศ ระหว่างพบหารือแบบเห็นหน้าที่เกิดขึ้นได้ยาก ตามการเปิดเผยของหน่วยงานวันนี้ (10)

พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีในปี 2564 ที่จุดชนวนให้เกิดการลุกฮือด้วยอาวุธทั่วประเทศ

มีรยานา สปอลจาริก ประธานคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (ICRC) ได้พบหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในกรุงเนปีดอ วานนี้ (9) ICRC ระบุในคำแถลง

คำแถลงของ ICRC ยังระบุว่า ระหว่างการพบหารือ สปอลจาริกได้กล่าวสนับสนุนการเข้าถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งให้ได้มากขึ้น นอกจากนี้ สปอลจาริกยังเดินทางไปเยือนรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ ที่ได้เห็นความต้องการด้านมนุษยธรรมอย่างมากที่นั่น

ตั้งแต่เดือน พ.ย.ที่ผ่านมา รัฐยะไข่เกิดการปะทะกันระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพอาระกัน (AA) ที่ระบุว่าพวกเขากำลังต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองให้กับชาวยะไข่

กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าทั้งกองทัพพม่าและกองทัพอาระกัน กำลังบังคับเกณฑ์ชาวโรฮิงญาและสังหารชนกลุ่มน้อยเหล่านี้อย่างผิดกฎหมาย

การปราบปรามของทหารในปี 2560 ในรัฐยะไข่ ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนต้องหลบหนีไปยังบังกลาเทศ ที่ปัจจุบันพวกเขาต้องทนทุกข์อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัด

การปราบปรามดังกล่าวได้กลายเป็นประเด็นสอบสวนเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลสูงสุดของสหประชาชาติ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่บังกลาเทศกล่าวว่าชาวโรฮิงญาอีกประมาณ 8,000 คน ได้หลบหนีเข้าไปในบังกลาเทศ ท่ามกลางการสู้รบระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพอาระกัน

สำนักข่าวโกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์รายงานว่า สปอลจาริก และ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภารกิจของ ICRC ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพม่า และความจำเป็นในการร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

ในเดือน มิ.ย.2564 ปีเตอร์ เมาเรอร์ ประธาน ICRC ได้พบหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในพม่า และได้ร้องขอให้องค์กรการกุศลได้รับอนุญาตให้กลับมาเยี่ยมเยือนและดำเนินกิจกรรมด้านมนุษยธรรมในเรือนจำของพม่าได้อีกครั้ง หลังจากหยุดชะงักไปจากการระบาดของโควิด

สำนักสื่อของ ICRC กล่าวกับเอเอฟพีว่าการหารือเกี่ยวกับการเยี่ยมเรือนจำของเจ้าหน้าที่ ICRC ยังคงดำเนินอยู่

กลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่นระบุว่า มีนักโทษการเมืองถูกคุมขังในเรือนจำพม่ามากกว่า 20,000 คน ที่เป็นผลจากการปราบปรามผู้เห็นต่างของรัฐบาลทหาร

ICRC ระบุในรายงานว่าสถานการณ์ในพม่าน่าตกใจอย่างมากเนื่องจากเหตุปะทะ การทำลายโครงสร้างพื้นฐาน และข้อจำกัดการเคลื่อนไหวที่ขัดขวางการเข้าถึงด้านมนุษยธรรม

“การตอบสนองต่อความต้องการด้านมนุษยธรรมที่เพิ่มขึ้นยังคงไม่เพียงพอ” รายงานระบุ

สหประชาชาติระบุว่านับตั้งแต่การรัฐประหาร มีผู้คนมากกว่า 2.7 ล้านคน ถูกบังคับให้ต้องหนีออกจากบ้านของตนเอง.
กำลังโหลดความคิดเห็น