xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในบังกลาเทศร้องยุติความรุนแรง ขอเดินทางกลับพม่าอย่างปลอดภัยหลังพลัดถิ่นครบ 7 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนจากพม่าที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่แออัดทรุดโทรมในบังกลาเทศ ได้รวมตัวกันเรียกร้องการเดินทางกลับรัฐยะไข่ ของพม่าอย่างปลอดภัย หลังครบรอบ 7 ปี ของการอพยพเมื่อวันอาทิตย์ (25)

ผู้ลี้ภัยรวมตัวกันในทุ่งโล่งที่ค่ายกูตูปาลอง ในเมืองค็อกซ์บาซาร์ พร้อมถือป้ายที่เขียนว่า ‘พวกเราโรฮิงญาคือพลเมืองพม่า’ และ ‘บ้านคือความหวัง’ ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาในวันที่กำหนดให้เป็นวันล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา

เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2560 ผู้ลี้ภัยหลายแสนคนได้เริ่มข้ามชายแดนไปฝั่งบังกลาเทศด้วยการเดินเท้าและทางเรือ ท่ามกลางการสังหารหมู่และความรุนแรงอื่นๆ ในรัฐยะไข่ของพม่า

พม่าได้เริ่มดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรงหลังการโจมตีด่านตรวจของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ด้วยขนาดและความรุนแรงของปฏิบัติการดังกล่าวทำให้ประชาคมระหว่างประเทศ รวมถึงสหประชาชาติ กล่าวหาว่ามีการกวาดล้างชาติพันธุ์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

นายกรัฐมนตรีของบังกลาเทศในขณะนั้นได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่รักษาชายแดนเปิดพรมแดน และท้ายที่สุดมีผู้ลี้ภัยมากกว่า 700,000 คน เข้าไปหลบภัยในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม การหลั่งไหลเข้ามาของผู้ลี้ภัยดังกล่าวได้เพิ่มเติมจำนวนผู้ลี้ภัยจากเดิมที่มีมากกว่า 300,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในบังกลาเทศมานานหลายทศวรรษจากคลื่นความรุนแรงก่อนหน้านี้ที่เกิดขึ้นจากกองทัพพม่า

ตั้งแต่ปี 2560 บังกลาเทศพยายามส่งผู้ลี้ภัยกลับอย่างน้อย 2 ครั้ง และเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศกดดันพม่าให้สร้างสภาพแวดล้อมที่สงบสุขภายในประเทศ เพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศได้ และผู้นำบังกลาเทศยังขอความช่วยเหลือจากจีนให้เป็นสื่อกลางไกล่เกลี่ยอีกด้วย

แต่ในช่วงที่ผ่านมา สถานการณ์ในรัฐยะไข่มีความไม่มั่นคงมากขึ้น หลังจากกองทัพอาระกันเริ่มต่อสู้กับกองกำลังความมั่นคงของพม่า ความโกลาหลวุ่นวายปะทุขึ้นใหม่อีกครั้ง และบังคับให้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากต้องอพยพไปบังกลาเทศและที่อื่นๆ เพื่อรักษาชีวิต ทหารพม่าและเจ้าหน้าที่รักษาชายแดนหลายร้อยนายยังเข้าไปหลบภัยในฝั่งบังกลาเทศ เพื่อหลบหนีความรุนแรง แต่ในเวลาต่อมาบังกลาเทศได้ส่งตัวเจ้าหน้าที่เหล่านั้นให้ทางการพม่า

ขณะที่การชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นในค่ายต่างๆ ในบังกลาเทศเมื่อวันอาทิตย์ (25) สหประชาชาติและกลุ่มสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่า

องค์กรผู้ลี้ภัยในวอชิงตัน ดี.ซี.ระบุว่า การสู้รบที่เพิ่มขึ้นระหว่างกองทัพพม่าและกองทัพอาระกันในรัฐยะไข่ ในช่วงปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวโรฮิงญาอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากและตกเป็นเป้า กองทัพอาระกันรุกคืบและเผาบ้านเรือนในเมืองบุติด่อง หม่องดอ และเมืองอื่นๆ และเมื่อไม่นานนี้ได้ใช้โดรนโจมตีหมู่บ้าน

“ขณะเดียวกัน รัฐบาลทหารได้บังคับเกณฑ์ชาวโรฮิงญาเข้าเป็นทหาร และทิ้งระเบิดหมู่บ้านต่างๆ เพื่อตอบโต้ โรฮิงญาหลายหมื่นคนกลายเป็นผู้พลัดถิ่น รวมถึงหลายคนที่พยายามหลบหนีเข้าบังกลาเทศ” คำแถลงระบุ

ยูนิเซฟระบุว่าหน่วยงานได้รับรายงานที่น่าตกใจว่าพลเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและครอบครัว ตกเป็นเป้าหรือติดอยู่ท่ามกลางการปะทะ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสาหัส ทำให้การเข้าถึงด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่ เป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง.








กำลังโหลดความคิดเห็น