xs
xsm
sm
md
lg

โรฮิงญากว่า 8,000 คน อพยพหนีความรุนแรงในพม่าเข้าไปบังกลาเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่บังกลาเทศเผยว่าชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 8,000 คน ได้หลบหนีจากพม่ามายังบังกลาเทศในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ความรุนแรงในพม่าทวีความรุนแรงขึ้นขณะที่การสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารกับกองทัพอาระกันยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง

“เรามีข้อมูลว่าชาวโรฮิงญาประมาณ 8,000 คน ได้ข้ามแดนเข้ามาในบังกลาเทศเมื่อเร็วๆ นี้ โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา” เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่รับผิดชอบด้านผู้ลี้ภัยของรัฐบาลบังกลาเทศกล่าว

“บังกลาเทศมีภาระมากเกินไปและไม่สามารถรองรับชาวโรฮิงญาเพิ่มได้” เจ้าหน้าที่กล่าวกับรอยเตอร์วันนี้ (4)

รัฐบาลบังกลาเทศยังไม่ได้ให้ประมาณการใดๆ เกี่ยวกับจำนวนโรฮิงญาที่ข้ามแดนไปในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

รัฐมนตรีต่างประเทศของบังกลาเทศกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อค่ำวันอังคาร (3) ว่ารัฐบาลจะหารืออย่างจริงจังในคณะรัฐมนตรีภายใน 2-3 วันนี้ เพื่อแก้ไขวิกฤต และกล่าวว่าแม้รัฐบาลจะรู้สึกเห็นใจชาวโรฮิงญา แต่ประเทศไม่มีศักยภาพที่จะให้ที่พักพิงด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยเพิ่มเติมได้อีกต่อไป

“เป็นไปไม่ได้ที่จะปิดพรมแดนได้อย่างสมบูรณ์” รัฐมนตรีกล่าว และเสริมว่าทางการจะดำเนินการป้องกันการแทรกซึมเพิ่มเติม

ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาหลายหมื่นคนในบังกลาเทศได้จัดการชุมนุมในค่ายผู้ลี้ภัยเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่เป็นวันครบรอบ 7 ปี ของการปราบปราบของกองทัพในปี 2560 ที่ส่งผลให้พวกเขาต้องหนีออกจากพม่า ซึ่งพวกเขาเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและกลับสู่บ้านเกิดอย่างปลอดภัย

ชาวโรฮิงญามากกว่า 1 ล้านคน อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยทางตอนใต้ของบังกลาเทศ ที่แทบไม่มีทางที่จะได้กลับพม่า เนื่องจากพวกเขาถูกปฏิเสธสิทธิพลเมืองและสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ

ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นเมื่อไม่นานนี้ถือเป็นความรุนแรงที่เลวร้ายที่สุดที่ชาวโรฮิงญาต้องเผชิญ นับตั้งแต่การปราบปรามภายใต้การนำของกองทัพพม่าในปี 2560 ที่สหประชาชาติระบุว่ามีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เมื่อเดือนที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศของบังกลาเทศกล่าวกับรอยเตอร์ว่าบังกลาเทศไม่สามารถรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญาได้อีก และเรียกร้องให้อินเดียและประเทศอื่นๆ ดำเนินการให้มากขึ้น และยังเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศดำเนินมาตรการกดดันต่อกองทัพอาระกันให้ยุติการโจมตีโรฮิงญาในรัฐยะไข่.
กำลังโหลดความคิดเห็น