เอเอฟพี - ทหารพม่าโจมตีทางอากาศถล่มคลินิกทางการแพทย์แห่งหนึ่งในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 20 คน ตามการระบุของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์และสื่อท้องถิ่นในวันพุธ (15)
การปะทะเกิดขึ้นในรัฐยะไข่นับตั้งแต่กองทัพอาระกัน (AA) โจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคงในเดือน พ.ย. ที่ยุติการหยุดยิงที่ได้ตกลงกันไว้หลังการรัฐประหารในปี 2564
สมาชิกของกองทัพอาระกันเข้ายึดดินแดน ที่รวมถึงพื้นที่ตามแนวชายแดนติดกับอินเดียและบังกลาเทศ ซึ่งเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลทหารในขณะที่พวกเขาต้องต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ
“ฉันได้ยินเสียงเครื่องบินขับไล่ดังมากเมื่อคืนนี้ จากนั้นได้ยินเสียงระเบิดราวเที่ยงคืน” ชาวบ้านในหมู่บ้าน Wea Gyi Htaunt ใกล้เมืองเจาก์ตอ กล่าวกับเอเอฟพี
“ทันทีที่ฉันรู้ว่าเป็นการโจมตีทางอากาศ ครอบครัวของเราหนีออกจากบ้านไปซ่อนตัวในป่า” ชาวบ้านคนเดิมกล่าว โดยขอไม่เปิดเผยตัวตนด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
“ฉันได้ยินว่ามีคนหลายสิบคนที่เป็นผู้ป่วยนอก เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ และชาวบ้านในพื้นที่ได้รับบาดเจ็บ”
มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 20 คน ที่รวมทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ดูแล และเจ้าหน้าที่ จากการโจมตีที่เกิดขึ้นหลังเที่ยงคืนไม่นาน กองทัพอาระกันระบุในบัญชีเทเลแกรม และว่าในกลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บ มี 5 คน ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัส และคลินิกถูกทำลายเกือบทั้งหมด
สื่อท้องถิ่นยังรายงานถึงเหตุการณ์การโจมตีดังกล่าว และระบุว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 15 คน
ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่า กองทัพอาระกันควบคุมคลินิกแห่งนี้ ที่อยู่ใกล้กับหมู่บ้าน Wea Gyi Htaunt
ชาวบ้านระบุว่ากองทัพยิงโจมตีพื้นที่ดังกล่าวหลายครั้งในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
การสื่อสารกับรัฐยะไข่เป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากเครือข่ายมือถือล่ม
กองทัพอาระกันเป็นหนึ่งในกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในพื้นที่ชายแดนของพม่า ที่หลายกลุ่มต่อสู้กับทหารนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองและการควบคุมทรัพยากรที่มีค่า
กองทัพอาระกันอ้างว่าพวกเขากำลังต่อสู้เพื่อสิทธิในการปกครองตนเองสำหรับประชากรชาติพันธุ์ยะไข่ของรัฐ
การต่อสู้แผ่ขยายไปยัง 15 เมืองจากทั้งหมด 17 เมืองของรัฐยะไข่ นับตั้งแต่การต่อสู้ปะทุขึ้นในเดือน พ.ย. ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุในเดือนก่อน และว่ามีผู้คนหลายร้อยคนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ และมีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 300,000 คน
การปะทะกันระหว่างกองทัพอาระกันและกองทัพในปี 2562 สร้างความเสียหายให้ภูมิภาคนี้ และทำให้มีผู้พลัดถิ่นประมาณ 200,000 คน
กองทัพเริ่มปราบปรามชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาในพื้นที่ในปี 2560 ที่ปัจจุบันกลายเป็นประเด็นในคดีที่ศาลฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหประชาชาติ.