xs
xsm
sm
md
lg

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนร้องรัฐบาลทหารพม่ายกเลิกการประหารชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า รัฐบาลทหารพม่ามีแนวโน้มที่จะก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและเรียกร้องให้ทางการพม่ายุติการประหารชีวิตตามที่วางแผนไว้

กองทัพพม่ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ปีก่อน ขับไล่รัฐบาลพลเรือน และจับกุมอองซานซูจี ผู้นำโดยพฤตินัย นับจากนั้นรัฐบาลทหารได้ดำเนินการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างนองเลือด

มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเตือนว่าการดำเนินการประหารชีวิตที่จะกลายเป็นครั้งแรกของประเทศนับตั้งแต่ปี 2533 ถือเป็นการละเมิดสิทธิในชีวิต

บาเชเลต์กล่าวต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่า เธอขอเรียกร้องให้ทางการทหารงดเว้นจากขั้นตอนที่ถดถอยดังกล่าว

รัฐบาลทหารพม่าได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่าพวกเขาจะประหารชีวิตอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจี และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่มีชื่อเสียง ซึ่งทั้งคู่ถูกตัดสินความผิดจากข้อหาก่อการร้าย

พวกเขาเป็นหนึ่งในหลายสิบคนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามของรัฐบาลทหาร

เมื่อวันอังคาร (14) บาเชเลต์ได้ย้ำข้อค้นพบของสำนักงานของเธอว่าการล่วงละเมิดของกองทัพนับตั้งแต่การรัฐประหารอาจถือเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงคราม

เธอกล่าวว่า มีรายงานว่าทหารได้สังหารผู้คนไปอย่างน้อย 1,900 คน นับตั้งแต่การรัฐประหาร มีผู้ถูกจับกุมตัวมากกว่า 13,500 คน ที่รวมถึงนักการเมือง นักข่าว และทนายความ และมีคนถูกคุมขังมากกว่า 10,500 ตัว

สหประชาชาติระบุว่า ความรุนแรงหลังการรัฐประหารผลักดันให้จำนวนผู้พลัดถิ่นในพม่าเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1 ล้านคน และผู้คนราว 14 ล้านคนในประเทศต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วน

ในรายงานที่ออกเมื่อเดือน มี.ค. สำนักงานสิทธิอธิบายว่าทหารโจมตีพื้นที่ที่มีประชากรอยู่หนาแน่นด้วยการโจมตีทางอากาศและอาวุธหนัก และจงใจมุ่งเป้าที่พลเรือน หลายคนถูกยิงที่ศีรษะ ถูกไฟคลอก ถูกจับกุมโดยพลการ ถูกทรมานหรือถูกใช้เป็นโล่มนุษย์

บาเชเลต์กล่าวเมื่อวันอังคาร (14) ว่านับตั้งแต่นั้นความรุนแรงในพม่าทวีความรุนแรงขึ้น และเธอระบุว่าการกำหนดเป้าหมายพลเรือนและการเผาหมู่บ้านต้องยุติลงทันที

นอกจากนี้ เธอยังประณามการปราบปรามโรฮิงญาอย่างต่อเนื่องของพม่า ที่รวมถึงการกำหนดข้อจำกัดการเคลื่อนไหวอย่างเข้มงวด โดยระบุว่ามีโรฮิงญามากกว่า 300 คน ถูกจับกุมเนื่องจากเดินทางออกนอกชุมชนอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนของสหประชาขติได้เรียกร้องการรับผิดชอบต่อการละเมิดเหล่านั้น

“เป็นเรื่องน่าผิดหวังอย่างยิ่งที่ได้เห็นว่าความพยายามของนานาชาติที่จะควบคุมการใช้ความรุนแรงของกองทัพไม่ได้ผลเป็นส่วนใหญ่” บาเชเลต์ กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น