เอพี - เจ้าหน้าที่พม่า และสมาชิกทีมกู้ภัยกล่าวว่า มีชาวโรฮิงญาเสียชีวิตอย่างน้อย 16 คน หลังพายุซัดถล่มเรือที่พวกเขาโดยสารเดินทางหาที่ลี้ภัยในประเทศอื่นจนพลิกคว่ำ
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์นอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า มีผู้รอดชีวิต 35 คน และยังมีผู้สูญหายอีก 4 คน เจ้าหน้าที่ระบุ
UNHCR หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติออกคำแถลงแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และระบุว่า ชาวโรฮิงญาที่เสียชีวิตมีเด็กรวมอยู่ด้วย
เรือลำเกิดเหตุออกเดินทางจากรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของประเทศเมื่อวันพฤหัสฯ และเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายใน 2 วันถัดมานอกเขตอิรวดี บริเวณชายฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ เป็นเหตุให้เรือพลิกคว่ำ คำแถลงระบุ
ชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยมุสลิมที่ถูกกดขี่ข่มเหงมาอย่างยาวนานในพม่า โรฮิงญามากกว่า 700,000 คน หลบหนีออกจากประเทศไปยังบังกลาเทศตั้งแต่เดือน ส.ค.2560 เพื่อหลบหนีการปราบปรามความไม่สงบของกองทัพหลังการโจมตีของกลุ่มก่อความไม่สงบโรฮิงญาในรัฐยะไข่
รัฐบาลพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ากองกำลังความมั่นคงได้ก่อเหตุข่มขืนและสังหารหมู่ และเผาบ้านเรือนหลายพันหลัง แต่รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่งระบุว่า การกระทำของกองทัพพม่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ทั้งนี้ ยังมีชาวโรฮิงญามากกว่า 100,000 คน เหลืออยู่ในพม่า ถูกกักขังอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่น รวมทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยแออัดในบังกลาเทศ
กลุ่มชาวโรฮิงญาจากค่ายพักพิงต่างๆ ในทั้ง 2 ประเทศเริ่มออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม อย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซียเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น
“ชาวโรฮิงญาราว 630 คน พยายามเดินทางทางทะเลข้ามอ่าวเบงกอลตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค.2565” คำแถลงของ UNHCR ระบุ โดยผู้หญิงและเด็กมีสัดส่วนราว 60% ของผู้ที่พยายามหลบหนี
คำแถลงยังระบุว่า ความเสี่ยงของการถูกละเมิดจากผู้ลักลอบขนผู้อพยพและอันตรายจากการเดินทางทางทะเลด้วยตนเองนั้นเพิ่มสูงขึ้นระหว่างการเดินทางเป็นเวลานานเมื่อไม่พบท่าเรือที่ปลอดภัยสำหรับขึ้นฝั่ง
ผู้อยู่อาศัยในเขตอิรวดีกล่าวว่า ศพ 16 ศพ รวมทั้งศพเด็กชาย 2 ศพ ถูกพบใกล้เมืองพะสิม ห่างจากนครย่างกุ้งทางตะวันตกราว 300 กิโลเมตร
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อเนื่องจากรัฐบาลทหารควบคุมข้อมูลอย่างเข้มงวด ระบุว่า คนบนเรือส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ส่วนศพที่พบถูกฝังแล้ว และผู้รอดชีวิต 35 คน ถูกกองกำลังความมั่นคงควบคุมตัว
หม่อง หม่อง ทัน โฆษกรัฐบาลเขตอิรวดียืนยันถึงอุบัติเหตุดังกล่าวแต่ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นเพิ่มเติม
“เหตุโศกนาฏกรรมล่าสุดนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งถึงความสิ้นหวังของชาวโรฮิงญาในพม่าและในภูมิภาค เป็นเรื่องน่าตกใจที่ได้เห็นว่าเด็ก ผู้หญิง และผู้ชายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในการเดินทางที่อันตรายและเสียชีวิตในท้ายที่สุด” ผู้อำนวยการ UNHCR ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ระบุ.