xs
xsm
sm
md
lg

กองทัพพม่าเกณฑ์โรฮิงญาเป็นทหาร ล่ารายชื่อตามหมู่บ้าน-ค่ายพลัดถิ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR ออนไลน์ - รัฐบาลทหารพม่ากำลังเสนอเสรีภาพในการเคลื่อนไหวให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวตามค่ายพักสำหรับผู้พลัดถิ่นในรัฐยะไข่ ที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะชักจูงพวกเขาให้เป็นทหาร หลังจากทางการประกาศบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารทั่วประเทศ

การประกาศใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งผลให้พลเรือนที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ต่างหลบหนีออกจากเมืองต่างๆ ของพม่า โดยพวกเขากล่าวว่าอยากจะหลบหนีออกจากประเทศ หรือเข้าร่วมกับกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารในพื้นที่ชายแดนห่างไกลมากกว่าที่จะต้องต่อสู้เพื่อกองทัพที่ยึดอำนาจในการรัฐประหารปี 2564

กองทัพพม่าหมดหวังกับการเกณฑ์ทหารใหม่ หลังเผชิญกับความสูญเสียอย่างหนักในสนามรบต่อกองทัพอาระกัน (AA) ในรัฐยะไข่ ตั้งแต่เดือน พ.ย. ที่กองทัพอาระกันได้ยุติการหยุดยิงที่ได้ตกลงไว้ตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร โดยกองทัพพ่ายแพ้ให้ฝ่ายตรงข้ามในเมืองปอก์ตอ มินบยา มะรัคอู จอก์ตอ มเยโบน และต่องพโย ในรัฐยะไข่ รวมทั้งเมืองปาเล็ตวา ในรัฐชิน

แต่นักรณรงค์ด้านสิทธิกล่าวว่า รัฐบาลทหารกำลังเกณฑ์โรฮิงญาเข้าเป็นทหารเพื่อก่อความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ในรัฐยะไข่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกล่าวว่า การขับเคลื่อนดังกล่าวถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย เนื่องจากพม่าปฏิเสธที่จะยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ของประเทศ และปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมืองของพวกเขามานานหลายทศวรรษ

ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาราว 1 ล้านคน อาศัยอยู่ในบังกลาเทศมาตั้งแต่ปี 2560 หลังจากพวกเขาถูกขับออกจากพม่าโดยปฏิบัติการกวาดล้างของกองทัพ ส่วนโรฮิงญาอีกราว 630,000 คน ที่อาศัยอยู่ในพม่า สหประชาชาติระบุว่าเป็นบุคคลไร้สัญชาติ รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ และถูกจำกัดไม่ให้เคลื่อนไหวได้อย่างเสรีในรัฐยะไข่

ผู้ที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นจอก์ตาโลน ในเมืองจอก์พยู ของรัฐยะไข่ กล่าวว่า กองกำลังของรัฐบาลทหาร รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้บัญชาการกองพันทหารราบเบาที่ 542 ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลชาวมุสลิมในค่าย ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเกณฑ์เข้าเป็นทหาร

เจ้าหน้าที่รัฐรวบรวมรายชื่อชาวโรฮิงญาที่มีสิทธิเกณฑ์ทหารได้มากกว่า 160 คน และได้แจ้งให้พวกเขาทราบว่าพวกเขาจะต้องเข้าร่วมโครงการฝึกทหารเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ตามการระบุของคนในค่ายรายหนึ่ง

“เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของเมืองมาถึงที่ค่าย และบอกเราว่าชาวมุสลิมต้องรับใช้ชาติด้วย แต่พวกเราปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งของเขา จากนั้นผู้บัญชาการทหารก็มาถึงพร้อมกับลูกน้องของเขา และบังคับให้เราปฏิบัติตามกฎหมายเกณฑ์ทหาร และได้รวบรวมรายชื่อไปมากกว่า 160 คน” ผู้อยู่อาศัยในค่ายโรฮิงญา กล่าว

ค่ายจอก์ตาโลนมีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ราว 1,500 คน นับตั้งแต่เกิดความรุนแรงทางชาติพันธุ์ ที่ทำให้พวกเขาต้องหนีออกจากบ้านของตนเองในจอก์พยูเมื่อ 12 ปีก่อน

นับตั้งแต่การสำรวจสำมะโนประชากรเกิดขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์ เจ้าหน้าที่รัฐได้เดินทางไปเยี่ยมค่ายต่างๆ ในรัฐ และพยายามที่จะโน้มน้าวโรฮิงญาให้เป็นทหาร โดยเสนอการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีภายในเมืองจอก์พยู

“พวกเขาไม่รับประกันสิทธิการเป็นพลเมืองของพวกเรา แต่ถ้าเราเป็นทหาร เราจะได้รับอนุญาตให้เดินทางได้อย่างเสรีในเมืองจอก์พยู” ผู้อาศัยในค่ายผู้พลัดถิ่น กล่าว

ส่วนชาวโรฮิงญาอีกรายหนึ่งกล่าวว่า พวกเขายอมตายดีกว่าเป็นทหาร และระบุว่าการเกณฑ์ทหารเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของกองทัพที่จะสร้างความขัดแย้งระหว่างชาวโรฮิงญาและชาวยะไข่ ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของรัฐ และเป็นชาติพันธุ์ของกองทัพอาระกัน

ทั้งนี้ยังไม่มีการระบุวันว่าโครงการฝึกทหารจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อใด แต่พวกเขากล่าวว่า หลังการฝึก ทหารเหล่านี้จะได้รับมอบหมายให้ดูแลความปลอดภัยร่วมกับกองกำลังทหารของรัฐ เฝ้าเส้นทางเข้าออกเมืองจอก์พยู และอาจถูกส่งตัวไปสนามรบหากจำเป็น

โรฮิงญาในค่ายพลัดถิ่นต่างหวาดกลัวที่จะต้องเป็นทหาร แต่ไม่สามารถหลบหนีออกจากค่ายได้ เพราะล้อมรอบด้วยกองกำลังทหาร 


การออกสำรวจล่ารายชื่อเกณฑ์โรฮิงญาเป็นทหารที่ค่ายผู้พลัดถิ่นจอก์ตาโลนนี้ เกิดขึ้นในขณะที่โรฮิงญาในเมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ เมืองบุติด่อง และเมืองหม่องดอ รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ของเมืองจอก์พยู รายงานว่า กองกำลังทหารของรัฐกำลังเข้าจับกุมและรวบรวมข้อมูลโรฮิงญา ในความพยายามที่จะบังคับให้พวกเขาเข้าฝึกทหาร

ชาวเมืองระบุว่าเมื่อต้นสัปดาห์ เจ้าหน้าที่ทหารได้จับกุมโรฮิงญาประมาณ 100 คน ที่มีอายุถึงเกณฑ์จากหมู่บ้านในเมืองบุติด่อง

ทหารกล่าวว่ากองทัพอาระกันตั้งค่ายใกล้หมู่บ้านโรฮิงญา ชาวบ้านจะต้องเข้าฝึกทหารเพื่อปกป้องพื้นที่ พวกเขากล่าวว่าชาวบ้านจะได้รับการติดอาวุธและกลับไปที่หมู่บ้านของตนเองหลังการฝึกเสร็จสิ้น

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ารัฐบาลทหารพยายามดำเนินการสำรวจสำมะโนประชากรในเมืองสิตตะเว และเมืองหม่องดอ และกดดันผู้คนให้เข้าร่วมฝึกทหาร รวมถึงให้หมู่บ้านขนาดเล็กส่งรายชื่อคนเข้ารับการฝึก 50 คน หมู่บ้านขนาดใหญ่ 100 คน

ทนายที่เป็นตัวแทนของโรฮิงญาในหลายๆ คดี บอกกับสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีว่า กฎหมายเกณฑ์ทหารไม่สามารถนำมาใช้กับชาวโรฮิงญาได้ เนื่องจากคนเหล่านี้ไม่มีสถานะการเป็นพลเมืองในพม่า

เขาเสริมว่าความพยายามของรัฐบาลทหารที่จะเกณฑ์โรฮิงญา เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามผลักดันให้เกิดช่องว่างระหว่างโรฮิงญา และชาวพม่าที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร

เย ซาน ละวิน นักเคลื่อนไหวประเด็นโรฮิงญา กล่าวว่ารัฐบาลทหารหวังที่จะหันเหความสนใจของประชาชนให้ออกไปจากความพ่ายแพ้ของกองทัพต่อกองทัพอาระกันในรัฐยะไข่ ด้วยการจุดชนวนความตึงเครียดระหว่างชาวยะไข่และโรฮิงญา

“ถ้าโรฮิงญาถูกบังคับให้เข้าร่วมกองทัพ อาจเกิดปัญหามากมายระหว่างชาวยะไข่และโรฮิงญา ซึ่งนั่นคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่เหตุผลหลักคือการใช้โรฮิงญาเป็นโล่มนุษย์” นักเคลื่อนไหวกล่าว

เน ซาน ละวิน ระบุว่า รัฐบาลชุดต่างๆ ในพม่าต่างปฏิเสธสถานะพลเมืองของโรฮิงญา ดังนั้นจึงไม่ควรกดดันให้พวกเขาต้องเป็นทหาร

รัฐบาลทหารไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความพยายามในการเกณฑ์โรฮิงญาเป็นทหารในรัฐยะไข่ และความพยายามของสำนักข่าวที่จะติดต่อกับรัฐมนตรีช่วยกระทรวงข้อมูลข่าวสาร และอัยการสูงสุดของรัฐยะไข่ ที่เป็นโฆษกรัฐบาลทหารในภูมิภาค ก็ไม่ได้ตอบรับการติดต่อเช่นกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น