เอเอฟพี - รายงานการสอบสวนของสหประชาชาติพบว่า กองทัพพม่าอยู่เบื้องหลังเพจเฟซบุ๊กหลายสิบเพจที่ดูเหมือนไม่มีความเกี่ยวข้องกัน เผยแพร่ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา ก่อนการปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในปี 2560
เฟซบุ๊กถูกกล่าวหามานานแล้วว่าช่วยเผยแพร่ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังจำนวนมากต่อชาวโรฮิงญา ก่อนที่ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนจะถูกขับไปยังบังกลาเทศ ในการปราบปรามที่ขณะนี้อยู่ภายใต้การสอบสวนคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหประชาชาติ
ในปลายปี 2564 ผู้ลี้ภัยโรฮิงญายื่นฟ้องเฟซบุ๊กเป็นเงิน 150,000 ล้านดอลลาร์ โดยอ้างว่าเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ล้มเหลวที่จะยับยั้งถ้อยคำแสดงความเกลียดชังที่มุ่งโจมตีพวกเขา
เวลานี้กลไกการสืบสวนอิสระกรณีพม่าของสหประชาชาติ (IIMM) กล่าวว่ามีหลักฐานชัดเจนว่ากองทัพพม่าจัดการเผยแพร่ถ้อยคำแสดงความเกลียดชังอย่างลับๆ
กองทัพดำเนินการเผยแพร่เนื้อหาที่ออกแบบมาเพื่อปลูกฝังความกลัวและความเกลียดชังต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาอย่างเป็นระบบและประสานงานกัน ผู้สืบสวนระบุในรายงานฉบับใหม่
“กองทัพบรรลุความสำเร็จด้วยการสร้างเครือข่ายเพจอย่างลับๆ บนเว็บสื่อสังคมออนไลน์ที่มีศักยภาพในการเข้าถึงผู้ชมหลายล้านคน” รายงานระบุ
IIMM ก่อตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในปี 2561 เพื่อรวบรวมหลักฐานอาชญากรรมระหว่างประเทศที่ร้ายแรงที่สุดและเตรียมเอกสารเพื่อดำเนินคดีทางอาญา
การวิเคราะห์ครั้งใหม่ของ IIMM พิจารณาถึงเนื้อหาที่โพสต์บนเพจเฟซบุ๊ก 43 เพจ ระหว่างเดือน ก.ค.-ธ.ค. ปี 2560
รายงานดังกล่าวพบว่าหน้าเพจที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน ที่ส่วนใหญ่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองทัพ และรวมถึงบางเพจที่ลงเนื้อหาเกี่ยวกับข่าวดาราและวัฒนธรรมสมัยนิยม “ได้ก่อตั้งเครือข่ายที่เชื่อมโยงกัน เครือข่ายทหาร บนเฟซบุ๊ก”
รายงานระบุว่ามีเนื้อหา 10,485 รายการ ที่มีคำพูดแสดงความเกลียดชังบนหน้าเพจและที่เฟซบุ๊กได้ลบออกไปจากแพลตฟอร์มในเดือน ส.ค.2561
ผู้สืบสวนยังพบว่าเนื้อหาที่มีถ้อยคำแสดงความเกลียดชังในหน้าเพจ 6 เพจ ที่ถูกเฟซบุ๊กลบออกเนื่องจากเชื่อมโยงกับบุคคลและองค์กร 20 แห่งที่เฟซบุ๊กแบนเพราะละเมิดสิทธิมนุษยชน หนึ่งในนั้นเกี่ยวข้องกับกองทัพอย่างเปิดเผย
ผู้สืบสวนยังตรวจสอบหน้าเพจอีก 37 เพจ ที่ภายนอกดูไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพ แต่ถูกเฟซบุ๊กลบออกเนื่องจากมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง โดยตรวจพบเนื้อหาแสดงถ้อยคำเกลียดชังถึง 30 เพจจากทั้งหมด
“เนื้อหาที่มีถ้อยคำแสดงความเกลียดชังมักเล่นกับเรื่องเล่าการเลือกปฏิบัติและดูหมิ่นเกี่ยวกับโรฮิงญา เนื้อหาเหล่านั้นมักมีตั้งแต่เรื่องที่ว่าชาวโรฮิงญาก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อพม่าผ่านความรุนแรง การก่อการร้าย หรืออิสลามาภิวัตน์
ถ้อยคำแสดงความเกลียดชังบางส่วนยังบรรยายว่าโรฮิงญาเป็นภัยคุกคามต่อความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติของชาวพม่าผ่านการกล่าวหาเรื่องการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังพบความเชื่อมโยงระหว่างเพจในรูปแบบต่างๆ เช่น พวกเขามักแชร์ผู้สร้างเพจ ผู้ดูแลระบบ บรรณาธิการ และโพสต์เนื้อหาเป็นประจำโดยการใช้ไอพีแอดเดรสเดียวกันกับที่กองทัพพม่าใช้
“เนื้อหาที่เหมือนกันมักถูกโพสต์ในหลายเพจในเครือข่ายนี้ บางครั้งเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่นาที” IIMM ระบุ
ผู้สืบสวนเน้นย้ำว่าการรณรงค์ใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชังของทหารยังคงดำเนินอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่หมู่บ้านชาวโรฮิงญาหลายแห่งถูกเผา และในขณะที่ชาวโรฮิงญาหลายพันคน ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก ถูกทุบตี ล่วงละเมิดทางเพศ และหรือถูกฆ่า
IIMM ชี้ให้เห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวยังคงดำเนินต่อเนื่องในขณะที่ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนถูกบังคับให้ต้องหลบหนีออกจากบ้านของพวกเขา
“แทนที่จะดำเนินการทุกขั้นตอนเพื่อป้องกันความรุนแรงและปกป้องประชาชน ทหารพม่ากลับดำเนินการรณรงค์ทางสื่อสังคมออนไลน์เพื่อเป็นข้ออ้างและส่งเสริมความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา” รายงานของ IIMM ระบุ.