xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเงาพม่าชี้ไทยไม่ควรสนับสนุนแผนการใดๆ ของรัฐบาลทหาร หลังเสนอช่วยทำสำมะโนประชากรเตรียมเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



MGR ออนไลน์ - ฝ่ายต่อต้านการปกครองของรัฐบาลทหารพม่าได้วิพากษ์วิจารณ์ความเป็นไปได้ที่ไทยจะช่วยเหลือรัฐบาลทหารสำรวจสำมะโนประชากรเพื่อเตรียมสำหรับการเลือกตั้งที่รัฐบาลทหารพม่าได้ให้คำมั่นไว้ ซึ่งนักวิจารณ์มองว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่หลอกลวง

ความเป็นไปได้ของการสนับสนุนและเสนอให้ความช่วยเหลือของไทยต่อการสำรวจสำมะโนประชากรของพม่าระหว่างวันที่ 1-15 ต.ค. และการเลือกตั้งในปีหน้า ถูกหยิบยกขึ้นหารือระหว่างนายมงคล วิศิษฏิสตัมภ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำพม่า โก โก ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งของพม่า และมี้น จ่าย รัฐมนตรีตรวจคนเข้าเมืองและประชากร ในกรุงเนปีดอ เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ตามการรายงานของสื่อของรัฐบาลทหาร

กองทัพพม่าโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีเมื่อต้นปี 2564 จำคุกเธอ เพื่อนร่วมพรรค และผู้สนับสนุนอีกหลายร้อยคน ตลอดจนยุบพรรคของเธอ และห้ามพรรคการเมืองอีกหลายพรรคมีส่วนร่วม

รัฐบาลทหารให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้ง แต่นักวิจารณ์กล่าวว่าการเลือกตั้งจะไม่มีความหมายหากซูจี นักการเมือง และนักเคลื่อนไหวที่สนับสนุนประชาธิปไตยอีกจำนวนมากยังถูกจำคุก

โฆษกของรัฐบาลเงาที่ประกอบด้วยนักการเมืองส่วนใหญ่จากพรรคของซูจี กล่าวกับสำนักข่าววิทยุเอเชียเสรีว่า ประชาคมระหว่างประเทศ รวมถึงไทยควรมุ่งเน้นที่การฟื้นฟูสิทธิมนุษยชน และความมั่นคง ไม่ใช่สนับสนุนแผนของรัฐบาลทหารที่ผิดกฎหมาย

“ผมขอเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศไม่สนับสนุนหรือช่วยเหลือรัฐบาลทหารพม่าที่ไร้ความชอบธรรม ที่ขัดต่อความต้องการของประชาชน” จ่อ ซอ โฆษกของสำนักงานประธานาธิบดีแห่งรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) กล่าว

“นี่คือเวลาที่ประชาคมระหว่างประเทศจะสนับสนุนชาวพม่าและการต่อต้านกองทัพฟาสซิสต์ของชาวพม่า และเตรียมพร้อมสำหรับยุคหลังการปกครองของทหาร” จ่อ ซอ กล่าว

ไทยมีพรมแดนติดกับพม่ายาวที่สุดและเป็นที่อยู่อาศัยของผู้ลี้ภัยหลายแสนคนที่หลบหนีความขัดแย้งในพม่ามานานหลายทศวรรษ จึงให้ความสนใจเป็นพิเศษที่จะเห็นเสถียรภาพของพม่ากลับคืนมา

แต่ถึงแม้ไทยและเพื่อนบ้านในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะพยายามแก้ไขความขัดแย้งในพม่า แต่การต่อสู้กลับทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากกองกำลังของรัฐบาลทหารเผชิญกับความพ่ายแพ้ในสนามรบในหลายพื้นที่ของประเทศ

จ่อ ซอ กล่าวว่า รัฐบาลทหารไม่มีความสามารถในการจัดทำสำมะโนประชากรที่มีประโยชน์และมีความหมาย และประชาคมระหว่างประเทศควรมุ่งเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาต่างๆ

ทั้งนี้ รัฐบาลทหารยังไม่ได้กำหนดวันเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้เร็วที่สุดคือต้นปีหน้า ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งจะต้องจัดขึ้นภายใน 6 เดือนหลังจากยกเลิกการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่การรัฐประหารต้นปี 2564 เพิ่งถูกขยายเวลาออกไปอีก 6 เดือนเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2568 แต่ยอมรับว่าการเลือกตั้งในบางพื้นที่อาจเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากยังไม่มีสันติภาพและเสถียรภาพ

กลุ่มสังเกตการณ์สันติภาพพม่าระบุว่า กลุ่มติดอาวุธเข้าควบคุมเมืองได้ 73 เมืองทั่วประเทศ ขณะที่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองที่ใกล้ชิดกับกองทัพอาระกัน ปฏิเสธความเป็นไปได้ของการจัดทำสำมะโนประชากรและการเลือกตั้งอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกลุ่มติดอาวุธยึดครองพื้นที่เป็นจำนวนมาก และยังกล่าวอีกว่าความพยายามของรัฐบาลทหารที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งน่าจะยิ่งทำให้การสู้รบรุนแรงขึ้น

กองทัพอาระกันควบคุม 9 เมืองในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่า รวมถึงดินแดนในรัฐชิน ที่อยู่ติดกัน

“ประเทศเพื่อนบ้านควรส่งเสียงให้สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) หยุดโจมตีพลเรือนและเริ่มต้นการเจรจา จากนั้นถึงจะสามารถจัดการเลือกตั้งที่แท้จริงได้” ผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น