รอยเตอร์ - พยานหลายคนระบุว่าเหตุการณ์โจมตีด้วยโดรนต่อชาวโรฮิงญาที่กำลังหลบหนีออกจากพม่าทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน รวมทั้งครอบครัวที่มีเด็ก ขณะที่ผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวต้องเดินเตร่ไปตามกองศพเพื่อระบุญาติที่เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ
พยาน 4 คน นักเคลื่อนไหว และนักการทูตระบุว่าเหตุการณ์โดรนโจมตีเมื่อต้นสัปดาห์ได้คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากที่กำลังรอข้ามแดนไปฝั่งบังกลาเทศ
หญิงท้องแก่และลูกสาววัย 2 ขวบของเธอเป็นหนึ่งในเหยื่อของการโจมตีครั้งนี้ ที่นับเป็นการโจมตีพลเรือนที่นองเลือดที่สุดในรัฐยะไข่ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาของการสู้รบระหว่างกองกำลังของรัฐบาลทหารและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์
พยาน 3 คน กล่าวกับรอยเตอร์ในวันศุกร์ว่ากองทัพอาระกันเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้ ข้อกล่าวหาที่กลุ่มปฏิเสธ กองกำลังติดอาวุธและกองทัพพม่าต่างกล่าวโทษอีกฝ่าย และรอยเตอร์ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีผู้เสียชีวิตกี่คนจากการโจมตีครั้งนี้ หรือไม่สามารถระบุผู้รับผิดชอบได้อย่างอิสระ
คลิปวิดีโอที่โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์เผยให้เห็นศพจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่บนพื้นโคลน กระเป๋าเดินทางและเป้สะพายกระจายรอบตัว ผู้รอดชีวิต 3 คน กล่าวว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน ขณะที่พยานที่เห็นผลพวงของการโจมตีกล่าวว่าเขาเห็นศพอย่างน้อย 70 ศพ
พยานคนหนึ่งชื่อโมฮัมเหม็ด เอเลยาส อายุ 35 ปี กล่าวว่าภรรยาที่กำลังตั้งครรภ์ของเขาและลูกสาววัย 2 ขวบ ได้รับบาดเจ็บจากการโจมตีและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เขาระบุว่าเขายืนอยู่กับครอบครัวที่ชายฝั่งขณะที่โดรนเริ่มโจมตีฝูงชน
“ผมได้ยินเสียงกระสุนปืนใหญ่ดังหลายครั้ง” เอเลยาส กล่าวจากค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ และเสริมว่าเขานอนลงกับพื้นเพื่อป้องกันตัว แต่เมื่อลุกขึ้น เขาก็เห็นภรรยาและลูกสาวของเขาได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนญาติคนอื่นๆ ของเขาหลายคนเสียชีวิต
ชัมซุดดิน อายุ 28 ปี พยานคนที่ 2 กล่าวว่าเขารอดชีวิตพร้อมกับภรรยาและลูกชายวัยแรกเกิดของเขา หลังจากการโจมตีมีหลายคนเสียชีวิตและบางคนร้องตะโกนด้วยความเจ็บปวดจากบาดแผล
นอกจากเหตุการณ์โจมตีด้วยโดรนแล้ว เรือบรรทุกโรฮิงญาที่กำลังหลบหนีออกจากพม่ายังจมลงในแม่น้ำนาฟ ที่เป็นพรมแดนธรรมชาติที่กั้นระหว่างสองประเทศเมื่อวันจันทร์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน ตามการระบุของพยาน 2 คน และสื่อบังกลาเทศ
แพทย์ไร้พรมแดนระบุในคำแถลงว่า องค์กรได้รักษาผู้คนที่ข้ามฝั่งจากพม่ามายังบังกลาเทศ ที่ได้รับบาดเจ็บจากความรุนแรง รวมถึงบาดแผลจากกระสุนปืน และผู้ป่วยได้เล่าว่าพวกเขาเห็นคนโดนระเบิดขณะพยายามหาเรือเพื่อข้ามแม่น้ำ
โฆษกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติระบุว่าหน่วยงานได้รับทราบถึงการเสียชีวิตของผู้ลี้ภัยจากเหตุเรือ 2 ลำล่มในอ่าวเบงกอล และได้ยินรายงานการเสียชีวิตของพลเรือนในเมืองหม่องดอ แต่ไม่สามารถยืนยันจำนวนหรือสถานการณ์ได้
ชาวโรฮิงญาถูกกดขี่ข่มเหงมาเป็นเวลานานในพม่า ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน หลบหนีออกจากพม่าในปี 2560 หลังจากกองทัพดำเนินการปราบปราม ที่สหประชาชาติระบุว่ามีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2564 และการชุมนุมประท้วงใหญ่ได้พัฒนาเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างกว้างขวาง
โรฮิงญาอพยพออกจากรัฐยะไข่มาเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว เนื่องจากกองทัพอาระกัน หนึ่งในกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ต่อสู้กับกองทัพ เข้าควบคุมพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐได้มากขึ้นเรื่อยๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่ของชาวมุสลิม
รอยเตอร์รายงานก่อนหน้านี้ว่ากองกำลังติดอาวุธได้เผาเมืองที่มีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่มากที่สุดเมื่อเดือน พ.ค. ทำให้เมืองหม่องดอ ที่อยู่ภายใต้วงล้อมของกลุ่มติดอาวุธ กลายเป็นที่อยู่สุดท้ายของโรฮิงญา นอกเหนือไปจากค่ายผู้พลัดถิ่นที่อยู่ทางตอนใต้ ซึ่งกองทัพอาระกันปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
กลุ่มนักเคลื่อนไหวประณามการโจมตีที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้ และนักการทูตตะวันตกรายหนึ่งกล่าวว่าเขาได้รับการยืนยันถึงรายงานดังกล่าว
“ผมเสียใจที่ต้องกล่าวว่ารายงานที่ระบุว่าโรฮิงญาหลายร้อยคนถูกสังหารที่ชายแดนบังกลาเทศ/พม่านั้นเป็นความจริง” บ็อบ เร ทูตแคนาดาประจำสหประชาชาติและอดีตผู้แทนพิเศษว่าด้วยกิจการพม่าโพสต์ลงในเอ็กซ์เมื่อวันพุธ
รัฐบาลทหารพม่าก็กล่าวโทษกองทัพอาระกันในโพสต์บนแอปพลิเคชันเทเลแกรมเช่นกัน
ด้านกองกำลังติดอาวุธปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยระบุว่า “ตามการสืบสวนของเรา สมาชิกในครอบครัวของผู้ก่อการร้ายพยายามที่จะเดินทางไปบังกลาเทศจากเมืองหม่องดอ และรัฐบาลทหารได้ทิ้งระเบิดใส่เพราะพวกเขาออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาต” โฆษกของกองทัพอาระกัน กล่าวกับรอยเตอร์ โดยอ้างถึงชาวมุสลิมที่เข้าร่วมกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาต่อสู้กับกองทัพอาระกัน.