กรมควบคุมโรค เผยปีนี้พบผู้ป่วย "ไข้เลือดออก" แล้ว 1.06 แสนคน ป่วยเพิ่มขึ้นทุกวัย ห่วง 5-34 ปีป่วยสูง ย้ำทายากันยุงทั้งคนป่วย คนรอบข้าง ป้องกัน "คน-ยุง-เชื้อ" มาเจอกัน ห่วงหญิงท้องติดเชื้อไวรัสซิกา พบป่วยสูงในเพชรบูรณ์และจันทบุรี หวั่นทำเด็กศีรษะเล็ก ย้ำคนพื้นที่น้ำท่วม หลังน้ำลดให้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
เมื่อวันที่ 14 ต.ค. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (EOC) เมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการรายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ซึ่งปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 6 ต.ค. มีผู้ป่วยสะสม 106,548 ราย มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยป่วยเพิ่มในทุกกลุ่มวัย แต่กลุ่มใหญ่มีทั้งเด็กวัยเรียนไปจนถึงวัยทำงาน ช่วงอายุ 5-34 ปี และมีผู้ป่วยเสียชีวิตเกินกว่า 100 ราย อัตราป่วยตายในผู้ใหญ่สูงกว่าเด็ก ทั้งนี้ ในระยะนี้โรคไข้เลือดออกยังมีระบาดอยู่ แม้บางพื้นที่มีรายงานผู้ป่วยลดลง เนื่องจากไทยยังมีฝนตกทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีภาชนะน้ำขังหรือบรรจุน้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายปริมาณมาก ซึ่งจะเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกเดงกี โรคติดเชื้อไวรัสซิกา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้ มาตรการสำคัญที่ต้องเน้น คือ จัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในพื้นที่ 7 ร คือ โรงเรือน/บ้าน โรงธรรม (วัด/มัสยิด/โบสถ์) โรงเรียน โรงแรม/รีสอร์ท โรงงานอุตสาหกรรม ที่มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูง รวมถึงโรงพยาบาลและส่วนราชการ โดยเฉพาะวัด มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงมาก
"ได้สั่งการเร่งแก้ปัญหาการป่วยตาย โดยเน้นมาตรการ รู้เร็วรักษาเร็ว ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งขณะนี้มีชุดตรวจที่ช่วยให้รู้ผลได้เร็ว สามารถไปเข้ารับการตรวจได้ที่ รพ.สต. ทั่วประเทศ และย้ำเตือนอย่าซื้อยาแก้ไข้กลุ่มเอ็นเสดกินเอง เช่น แอสไพริน ไอบูโปรเฟน ไดโคฟิแนค และยาชุดแก้ปวด จะเพิ่มความเสี่ยงเกิดเลือดออกและอาจเสียชีวิตได้" นพ.ธงชัยกล่าว
นพ.ธงชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ การป้องกันที่ตัวบุคคลก็สำคัญ คือ โรคไข้เลือดออกมีหลายระยะ ตั้งแต่ไม่มีอาการไปจนถึงมีอาการเด่นชัด ทุกระยะสามารถแพร่เชื้อโรคได้ ฉะนั้น เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออกไม่ว่าระยะใด ตัวผู้ป่วยจะต้องได้รับการป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัดและนำเชื้อไปติดคนอื่นด้วยการทายากันยุง แนะนำว่าให้ทาทั้งเช้าและเย็น หากแพทย์ให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านได้ คนรอบข้างก็ต้องป้องกันด้วยการทายากันยุงด้วยอีกชั้นหนึ่ง การป้องกันการแพร่ระบาดที่ดี คือ การป้องกันทั้งเชื้อ คน และยุง ไม่ให้มาพบกัน จะลดปัญหาการระบาดของโรคได้
นพ.ธงชัยกล่าวว่า อีกโรคที่เฝ้าระวังต่อเนื่องในช่วงฤดูฝนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ คือ โรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งปัจจุบันมีอุบัติการณ์พบผู้ป่วยมากขึ้น ตั้งแต่ต้นปี - วันที่ 4 ต.ค.2566 พบผู้ป่วย 479 ราย จาก 26 จังหวัด โดยช่วง 4 สัปดาห์ล่าสุด ยังพบผู้ป่วยมากที่เพชรบูรณ์ 24 ราย และจันทบุรี 22 ราย โดยหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสซิกา ส่งผ่านไปทารกในครรภ์ทำให้เกิดภาวะสมองไม่เจริญเติบโต เมื่อคลอดออกมาจะเป็นทารกที่มีศีรษะเล็ก โรคนี้มียุงลายเป็นพาหะ ดังนั้น การจัดการกับยุงลายสามารถป้องกันโรคได้ทั้ง 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา โดยต้องทำอย่างต่อเนื่องและอย่ามองข้ามจุดน้ำขังเล็กๆ โดยยุงลายจะวางไข่ในแหล่งน้ำใสนิ่ง มักจะเป็นภาชนะขังน้ำหรือใส่น้ำในบ้านหรือรอบๆ บ้าน หากกำจัดหรือปิดกั้นที่วางไข่ของยุงลาย ยุงจะพยายามไปหาที่วางไข่ในจุดอื่น ไม่ว่าจะเป็นน้ำในเศษภาชนะที่แอบซ่อน เช่น ขยะ เศษภาชนะ กาบใบไม้ที่มีน้ำฝนตกค้างเพียงน้อยนิด เป็นต้น
"อีกวิธีหนึ่งในการกำจัดยุงลาย คือ สร้างกับดักให้ยุงลายมาวางไข่แล้วหมั่นคอยดู เพื่อกำจัดลูกน้ำทิ้งเป็นประจำ เมื่อรอบของการวางไข่ยุงลายหมดไป ตัวแม่ยุงก็จะตายตามวงจรชีวิต ทำให้ไม่มียุงลายรุ่นใหม่เกิดขึ้น จึงเป็นอีกวิธีที่จะลดความหนาแน่นของยุงลายได้เช่นกัน ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันลดจำนวนยุงลาย โดย 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้าน ให้สะอาด แสงแดดส่องเข้าถึง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะรอบบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ และเก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด ไม่ให้มีน้ำขัง เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ ส่วนประชาชนพื้นที่น้ำท่วมช่วงนี้ ขอให้ป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ทายากันยุง นอนในมุ้ง ใช้ยาจุดกันยุง ใส่เสื้อแขนยาวกางเกงขายาว ภายหลังน้ำลดร่วมกันจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย" นพ.ธงชัยกล่าว