เอเอฟพี - กองทัพพม่าดำเนินการปราบปรามชาวโรฮิงญาในประเทศอย่างรุนแรงในปี 2560 ส่งผลให้โรฮิงญามากกว่า 740,000 คน ต้องอพยพลี้ภัยเข้าไปในบังกลาเทศ โดยในช่วงวิกฤตโรฮิงญา 5 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ ซึ่งสำนักข่าวต่างประเทศได้รวบรวมไว้ดังนี้
- ปฏิบัติการของกองทัพ -
ในเช้าตรู่ของวันที่ 25 ส.ค.2560 กลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาที่เรียกตัวเองว่า กองทัพกอบกู้โรฮิงญาแห่งอาระกัน (ARSA) ได้เปิดฉากโจมตีด่านตำรวจหลายสิบแห่งในรัฐยะไข่ของพม่า เป็นผลให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตอย่างน้อย 12 นาย
กองทัพตอบโต้ด้วยปฏิบัติการทางทหารในหมู่บ้านของชาวโรฮิงญา ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการกวาดล้างผู้ก่อความไม่สงบ
รายงานระบุว่า กองทัพได้สังหารสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ 400 คน แต่ฝ่ายตรงข้ามกล่าวว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นพลเรือน
ด้านสหประชาชาติระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1,000 คน ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของปฏิบัติการทางทหารดังกล่าว
- การอพยพของผู้ลี้ภัย -
ในวันที่ 5 ก.ย. โรฮิงญามากกว่า 120,000 คน ได้หลบหนีเข้าไปในบังกลาเทศ จนล้นค่ายผู้ลี้ภัยของประเทศ เพิ่มเติมจากชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 200,000 คนในบังกลาเทศที่อพยพมาจากเหตุการณ์ความรุนแรงก่อนหน้านี้
- ซูจีเปิดปากครั้งแรก -
ความโกรธแค้นของนานาชาติที่มีต่อพม่าเพิ่มสูงขึ้น ทหารถูกกล่าวหาว่าเผาทำลายบ้านเรือนของโรฮิงญา และผู้นำโลกบางคนกล่าวหาว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์
ในคำแถลงแรกของซูจีว่าด้วยวิกฤตดังกล่าว ผู้นำพลเรือนของพม่าได้ให้คำมั่นในวันที่ 19 ก.ย. ว่าจะนำตัวผู้ละเมิดสิทธิมาดำเนินคดี แต่ปฏิเสธที่จะตำหนิกองทัพ
- อาจเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ -
ในวันที่ 23 พ.ย. บังกลาเทศและพม่าได้ตกลงที่จะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ แต่ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า ยังไม่มีการกำหนดเงื่อนไขสำหรับการเดินทางกลับอย่างปลอดภัย ทำให้กระบวนการส่งกลับประเทศต้องหยุดชะงักลง
ในวันที่ 5 ธ.ค. เซอิด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กล่าวเตือนถึงความเป็นไปได้ขององค์ประกอบของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเรียกร้องการสอบสวนระหว่างประเทศ
- ศาลและมาตรการคว่ำบาตร -
ในวันที่ 25 ส.ค.2561 ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาหลายหมื่นคนจัดชุมนุมประท้วงเนื่องในวันครบรอบ 1 ปี การอพยพของพวกเขา
ผู้สอบสวนสหประชาชาติเรียกร้องการดำเนินคดีกับผู้บัญชาการกองทัพบกของพม่าและผู้บัญชาการทหารระดับสูง 5 นาย ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม
ในเดือน พ.ย. ความพยายามที่จะส่งชาวโรฮิงญา 2,260 คน กลับประเทศล้มเหลว เนื่องจากพวกเขาปฏิเสธที่จะเดินทางกลับโดยไม่มีการรับประกันความปลอดภัยของพวกเขา
- นักข่าวถูกจำคุก -
ในวันที่ 3 ก.ย. นักข่าวรอยเตอร์ 2 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายความลับของรัฐขณะรายงานเหตุสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 7 ปี
พวกเขาต้องอยู่หลังลูกกรงมากกว่า 500 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวจากการอภัยโทษจากประธานาธิบดี
- มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ -
ในวันที่ 16 ก.ค.2562 วอชิงตันประกาศคว่ำบาตรผู้บัญชาการกองทัพบกพม่า และเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีก 3 นาย
ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาราว 3,500 คน ผ่านเกณฑ์ในการเดินทางกลับพม่า แต่ไม่มีใครมาปรากฏตัวเพื่อเดินทางกลับในวันที่ 22 ส.ค.
- การฟ้องร้อง -
ในวันที่ 11 พ.ย. แกมเบียยื่นฟ้องศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) กล่าวหาพม่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากการปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา และ 3 วันต่อมา ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในกรุงเฮก ไฟเขียวให้ดำเนินการสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบต่อการประหัตประหารโรฮิงญา
ในสัปดาห์เดียวกัน กลุ่มสิทธิมนุษยชนในอาร์เจนตินาได้ยื่นฟ้องคดีที่ 3 ภายใต้หลักการขอบเขตอำนาจศาลสากล
- ซูจีขึ้นศาล -
ในวันที่ 11 ธ.ค. แกมเบียได้ยื่นคำร้องต่อศาล ICJ โดยซูจีขึ้นต่อสู้คดีด้วยตัวเองในฝ่ายจำเลย
เธอปฏิเสธข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ปฏิเสธข้อหาโดยระบุว่าเป็นคำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดและไม่สมบูรณ์ และยืนยันว่าพม่ากำลังจัดการกับความขัดแย้งทางอาวุธภายในประเทศ แต่เธอยอมรับว่ากองทัพอาจใช้กำลังมากเกินไป
- คำตัดสินของศาล -
ในวันที่ 23 ม.ค.2563 ศาล ICJ มีคำสั่งให้พม่าดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ถูกกล่าวหาและรายงานกลับภายใน 4 เดือน
- รัฐประหาร -
กองทัพพม่ายึดอำนาจในวันที่ 1 ก.พ.2564 ขับไล่รัฐบาลพลเรือน และต่อมาได้ดำเนินการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างนองเลือด
ซูจีถูกควบคุมตัวในบ้าน และต่อมาถูกตัดสินจำคุก 17 ปี หลังถูกดำเนินคดีในการพิจารณาแบบปิดในศาลรัฐบาลทหาร และจากข้อกล่าวหาที่เหลืออยู่อีกจำนวนมาก อาจทำให้ซูจีต้องเผชิญกับโทษจำคุกอีกหลายสิบปี
- สหรัฐฯ ชี้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ -
ในวันที่ 21 มี.ค.2565 สหรัฐฯ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าความรุนแรงในปี 2560 เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยระบุว่ามีหลักฐานชัดเจนของความพยายามที่จะทำลายชาวโรฮิงญา
ศาล ICJ มีคำตัดสินในวันที่ 22 ก.ค. ว่า คดีที่แกมเบียยื่นฟ้องสามารถดำเนินการต่อไปได้ และในเดือนเดียวกัน รัฐบาลทหารได้ประหารชีวิตนักโทษ 4 คน ที่นับเป็นการใช้โทษประหารชีวิตครั้งแรกของประเทศในรอบหลายทศวรรษ
- เหตุสังหารในค่ายลี้ภัย -
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. แกนนำชุมชนชาวโรฮิงญา 2 คน ถูกยิงเสียชีวิตในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในบังกลาเทศ นับเป็นเหตุสังหารครั้งล่าสุดในค่ายผู้ลี้ภัย โดยแหล่งข่าวโรฮิงญากล่าวกับเอเอฟพีว่า ARSA อยู่เบื้องหลังการยิง
ARSA ถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติด สังหารฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และปลูกฝังความกลัวในค่ายผู้ลี้ภัย.