เอเอฟพี - ทหารเกณฑ์ชุดแรกจำนวน 5,000 นาย ที่ถูกรัฐบาลทหารพม่าเรียกตัวจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในปลายเดือนนี้ ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าวทางทหาร ขณะที่กองทัพพยายามอย่างหนักที่จะบดขยี้ฝ่ายที่ต่อต้านการรัฐประหารของพวกเขา
รัฐบาลทหารได้บังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหารในเดือน ก.พ. เป็นเวลา 3 ปี หลังจากกองทัพยึดอำนาจและจุดชนวนให้เกิดการจลาจลด้วยอาวุธอย่างกว้างขวางที่แพร่กระจายไปในหลายพื้นที่ของประเทศ
กฎหมายอนุญาตให้ทางการเรียกตัวผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 18-35 ปี และผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 18-27 ปี เข้ารับใช้ชาติเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี
“ทหารเกณฑ์ชุดแรกที่เริ่มเรียกตัวเมื่อต้นเดือน เม.ย. จะเสร็จสิ้นการฝึกอบรมในสิ้นเดือนนี้” แหล่งข่าวทางทหารรายหนึ่งระบุ
แหล่งข่าวกล่าวว่าเมื่อเสร็จสิ้นการฝึก ทหารทั้ง 5,000 นายจะถูกส่งไปประจำตามหน่วยบัญชาการทหารต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อรับใช้ชาติ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่าพวกเขาเหล่านั้นจะปฏิบัติหน้าที่อย่างไร
แหล่งข่าวทางทหารอีกรายหนึ่งที่ขอไม่เปิดเผยชื่อกล่าวว่า หน่วยบัญชาการทหารแต่ละแห่งจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะใช้ทหารเกณฑ์ที่ได้รับอย่างไร
“มันจะขึ้นอยู่กับหน่วยบัญชาการที่พวกเขาไปถึงหลังการฝึก” แหล่งข่าวระบุ
พม่ามีกองบัญชาการประจำภูมิภาคทั้งหมด 14 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่เชิงเขาหิมาลัยทางภาคเหนือไปจนถึงพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีติดกับมหาสมุทรอินเดีย
ปัจจุบันมีกองบัญชาการอย่างน้อย 10 แห่งที่กำลังต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ หรือกองกำลังพิทักษ์ประชาชนที่ตั้งกลุ่มกำลังขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร
กฎหมายรับราชการทหารร่างขึ้นโดยรัฐบาลทหารชุดก่อนในปี 2553 แต่ยังไม่เคยบังคับใช้ ซึ่งเงื่อนไขของการรับราชการทหารสามารถขยายระยะเวลาออกไปได้นานสูงสุด 5 ปี ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินที่รัฐบาลทหารประกาศหลังยึดอำนาจ และผู้ที่เพิกเฉยต่อหมายเรียกอาจถูกจำคุกในระยะเวลาเดียวกัน
ชายหนุ่มและหญิงสาวหลายพันคนพยายามเดินทางออกนอกประเทศตั้งแต่กฎหมายนี้เริ่มบังคับใช้
ทหารเกณฑ์จากการเกณฑ์ชุดที่ 3 จำนวน 5,000 คน เริ่มเดินทางถึงศูนย์ฝึกแล้ว แหล่งข่าวระบุ
ก่อนหน้านี้ โฆษกรัฐบาลทหารได้เปิดเผยกับเอเอฟพีว่ากองทัพมีศักยภาพในการฝึกทหารได้ 50,000 คนต่อปี แม้ผู้มีสิทธิถูกเรียกตัวจะมีจำนวนประมาณ 13 ล้านคนก็ตาม
เมื่อเดือนก่อน สื่อของทางการรายงานอ้างคำกล่าวของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมว่ากองทัพเผชิญกับความท้าทายในการเกณฑ์ทหารให้ครบตามโควตา
สื่อท้องถิ่นได้รายงานถึงกรณีที่ชายคนหนึ่งถูกจับตัวตามถนนในย่างกุ้งและในเมืองอื่นๆ และถูกนำตัวไปเข้ารับการฝึกทหาร แต่รัฐบาลทหารปฏิเสธรายงานดังกล่าว
พม่าตกอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในเดือน ก.พ.2564 ที่โค่นล้มรัฐบาลของอองซานซูจี
นับแต่นั้นเป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5,200 คน ในการปราบปรามผู้เห็นต่างของกองทัพ และอีกมากกว่า 26,000 คน ถูกจับกุมตัว ตามการระบุของกลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่น.