MGR ออนไลน์ - ในขณะที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในเวียดนามฉลองการเปิดการค้ากับจีน แต่ผู้เชี่ยวชาญในประเทศได้ส่งเสียงเตือนให้ระวังการพึ่งพาตลาดที่สามารถหายไปได้หากรสนิยมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป หรือความขัดแย้งที่มีมายาวนานระหว่างปักกิ่งและฮานอยปะทุขึ้นอีกครั้งจากการอ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้
“ตลาดจีนมีขนาดใหญ่มาก เมื่อพวกเขาชื่นชอบผลไม้ชนิดนี้ เราก็ต้องพยายามที่จะปลูกให้เพียงพอเพื่อป้อนพวกเขา” หวอ เติ่น เลย ผู้อำนวยการบริษัท Phuong Ngoc-Cai Be ผู้ส่งออกผลไม้ใน จ.เตียนซยาง บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง กล่าว
ข้อมูลของกรมศุลกากรเวียดนามระบุว่า ยอดขายทุเรียนคาดว่าจะสูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ในตลาดจีนภายในสิ้นปี 2566 ทุเรียนเป็นผลไม้สดนำเข้าที่มีมูลค่ามากที่สุดของจีน โดยมีมูลค่าถึง 4,210 ล้านดอลลาร์ในปี 2564 ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากไทย
ในขณะที่การบริโภคทุเรียนในที่สาธารณะถูกห้ามในหลายสถานที่เนื่องจากกลิ่นรุนแรงของผลไม้ แต่ชาวจีนที่ชื่นชอบทุเรียนต่างเต็มใจที่จะจ่ายแม้ผลไม้ชนิดนี้จะมีราคาสูง
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและจีน ที่เป็นคู่ค้าและตลาดรายใหญ่ของประเทศกลับมีความซับซ้อน เนื่องด้วยสองประเทศติดพันอยู่ในข้อพิพาทดินแดนเกี่ยวกับหมู่เกาะ พื้นที่ทำประมง และสิทธิในการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในทะเลจีนใต้
ท่ามกลางท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นของจีน และการเข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาคนี้มากขึ้นของสหรัฐฯ ส่งผลให้ความเสี่ยงของความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างฮานอยและปักกิ่งที่แม้จะอยู่ในระดับต่ำแต่ก็ขยายตัวขึ้น ตามรายงานปี 2564 ของ International Crisis Group
หวอ เติ่น เลย เตือนว่าชาวสวนอาจได้รับผลกระทบอย่างหนักหากจีนปิดกั้นการนำเข้าทุเรียนเนื่องจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือปัญหาราคาตกเนื่องจากผลผลิตล้นตลาด
“ต้นทุเรียนต้องใช้เวลาถึง 7-8 ปี เพื่อให้โตเต็มที่และออกผล ดังนั้น เกษตรกรอาจเสียเวลา 7-8 ปี หากเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดในตลาดจีน” ผู้อำนวยการบริษัทส่งออกผลไม้ กล่าว
เลยกล่าวกับนักข่าวว่า จากประสบการณ์หลายปีของเขา เขาได้เห็นวัฏจักรที่เกษตรกรเลิกปลูกพืชชนิดหนึ่งเพื่อเปลี่ยนไปปลูกพืชอีกชนิดหนึ่งที่ให้ผลกำไรสูงกว่าในตลาดจีนมาแล้วหลายครั้ง
“เมื่อราคาขนุนสูงถึง 2.5-3 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม พวกเขาเลิกปลูกส้มแล้วหันไปปลูกขนุนแทน ตอนนี้ทุเรียนสามารถส่งออกไปจีนได้อย่างเป็นทางการแล้ว พวกเขาเริ่มโค่นต้นขนุน” หวอ เติ่น เลย กล่าว โดยอ้างถึงความผันผวนของราคาในต้นปี 2562
เมื่อนักข่าวติดต่อไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม และสำนักงานการค้าของสถานทูตเวียดนามในกรุงปักกิ่ง เพื่อสอบถามเกี่ยวกับมาตรการปกป้องชาวสวนทุเรียนจากความผันผวนของตลาด พวกเขาไม่ได้รับคำตอบ
เหวียน กว่าง อา นักเศรษฐศาสตร์ในกรุงฮานอยได้กล่าวเตือนถึงเรื่องการเร่งส่งออกทุเรียน
“เป็นเรื่องดีที่เวียดนามสามารถเจาะตลาดทุเรียนขนาดใหญ่ของจีนได้ เวียดนามสามารถใช้ความใกล้ชิดกับจีนเป็นข้อได้เปรียบในการส่งออกผลไม้สด แต่อย่างไรก็ตาม ทางการควรเรียนรู้บทเรียนจากพฤติกรรมที่ผ่านมาของจีนในการนำเข้าผลไม้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระหว่างสองประเทศเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ตลาดจีนมีความผันผวนอย่างมาก ที่นโยบายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในชั่วข้ามคืน” เหวียน กว่าง อา กล่าว
“ผู้กำหนดนโยบายของเวียดนามควรคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงเมื่อส่งออกไปตลาดจีนและควรมีแผนรองรับ” นักเศรษฐศาสตร์ กล่าว โดยแนะนำให้สำรวจตลาดทางเลือก ขยายตลาดภายในประเทศที่มีประชากร 100 ล้านคน หรือส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปผลไม้
ปักกิ่งตกลงที่จะเพิ่มทุเรียนลงในรายการผลไม้ของเวียดนามที่ได้รับการอนุมัติให้นำเข้าในเดือน ก.ค.2565 หลังจากเจรจากันนาน 4 ปี ซึ่งในระหว่างนั้น ไทยเป็นผู้จัดหาทุเรียนสดเพียงรายเดียวไปยังตลาดจีน ตามรายงานของ Produce Report
ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2565 เวียดนามส่งออกทุเรียนไปจีนเกือบ 41,000 ตัน มูลค่า 188 ล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลจากกรมศุลกากรจีน
ภายในสิ้นปี 2565 จีนได้รับรองพื้นที่ปลูกทุเรียนและโรงงานบรรจุ 113 แห่งในเวียดนาม และภายในต้นเดือน มี.ค.2566 มีพื้นที่ปลูกและโรงงานบรรจุที่ได้รับการรับรองจากจีนรวม 350 แห่ง โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรของจีนยังคงตรวจสอบสถานที่ต่างๆ เพื่อให้การรับรองอยู่อย่างต่อเนื่อง
ในปี 2564 เวียดนามส่งออกผลไม้ไปจีน มูลค่า 1,010 ล้านดอลลาร์ ตามการรายงานของหนังสือพิมพ์นงเหงียบ (เกษตรกรรม) โดยอ้างข้อมูลจากสำนักงานการค้าเวียดนามในกรุงปักกิ่ง ทำให้เวียดนามเป็นผู้ส่งออกผลไม้รายใหญ่อันดับ 3 ของจีน รองจากไทยและชิลี
ใน จ.เตียนซยาง เกษตรกรกำลังรักษาและดูแลทุเรียนของพวกเขาอย่างดี ด้วยผู้ค้าต้องการราคาที่ดีที่สุดจากผู้ส่งออก และเมื่อฤดูกาลทุเรียนของไทยที่เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. ถึงเดือน ส.ค.สิ้นสุดลง เกษตรกรเวียดนามจะสามารถเพิ่มราคาทุเรียนจาก 3 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ไปเป็น 9 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ตามการระบุของหวอ เติ่น เลย ซึ่งในเวียดนาม ฤดูกาลทุเรียนเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. ไปจนถึงเดือน พ.ย. ตามการระบุขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ
เกษตรกรเวียดนามในเขตพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงกำลังเปลี่ยนจากการปลูกขนุนและข้าวไปเป็นทุเรียน ขณะที่ในเขตที่ราบสูงภาคกลาง เกษตรกรกำลังปลูกทุเรียนในพื้นที่ที่เคยเป็นไร่กาแฟ หรือพริกไทย ตามการรายงานของสถานีโทรทัศน์วีทีวีเมื่อปลายเดือน ก.พ.
กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทคาดการณ์ว่าพื้นที่ปลูกทุเรียนในประเทศจะอยู่ที่ 65,000-75,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 400,000-47,000 ไร่) ภายในปี 2573 แต่จากที่วีทีวีรายงานโดยอ้างข้อมูลของกระทรวงระบุว่า มีพื้นที่ที่ใช้ปลูกทุเรียนไปแล้ว 80,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 500,000 ไร่) และเกษตรกรกำลังเร่งปลูกเพิ่ม.