xs
xsm
sm
md
lg

ความตึงเครียดทะเลจีนใต้และความรุนแรงในพม่ายังเป็นวาระสำคัญในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนในลาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี - ท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นของจีนในทะเลจีนใต้ และความรุนแรงที่ทวีความรุนแรงขึ้นในพม่า กลายเป็นประเด็นหลักสำหรับนักการทูตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการประชุมของพวกเขาที่ลาววันนี้ (29) โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของลาวแสดงความเห็นในแง่ดีว่าอาจมีความคืบหน้าเกิดขึ้นในปีนี้ในทั้งสองประเด็น

สะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีต่างประเทศของลาว กล่าวกับนักข่าวว่า ไทยกำลังเดินหน้าในแผนที่จะจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มเติมให้พม่า ที่ประชาชนมากกว่า 2.6 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากสงครามกลางเมือง

เขากล่าวว่าถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ผู้นำทหารที่ยึดอำนาจในพม่าเมื่อเดือน ก.พ.2564 จากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของอองซานซูจี ได้ส่งผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเป็นครั้งแรกที่เมืองประวัติศาสตร์หลวงพระบางในลาว

“เรารู้สึกเชิงบวกเล็กน้อยว่าการมีส่วนร่วมอาจได้ผล แม้เราจะต้องยอมรับว่าปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในพม่านั้นไม่สามารถคลี่คลายได้ในชั่วข้ามคืน ผมคิดว่าน่าจะมีแสงสว่างเล็กๆ ที่ปลายอุโมงค์” รัฐมนตรีต่างประเทศของลาว กล่าว

พม่าถูกห้ามไม่ให้ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศหรือตัวแทนทางการเมืองใดๆ เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของอาเซียนตั้งแต่ปลายปี 2564 หลังจากพม่าขัดขวางนักการทูตของกลุ่มพบหารือกับซูจี แต่อย่างไรก็ตาม พม่าได้ส่งผู้แทนที่ไม่ใช่ผู้แทนทางการเมืองไปร่วมการประชุมการทำงานระดับล่าง แต่ยังคงปฏิเสธที่จะส่งคนไปร่วมการประชุมระดับสูง

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมที่ลาวครั้งนี้ พม่าส่งเจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศที่ไม่ใช่ผู้แทนทางการเมืองเข้าร่วม ซึ่งสะเหลิมไซระบุว่าเป็นสัญญาณเชิงบวก

ประเทศสมาชิกอาเซียน อินโดนีเซีย ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย พม่า กัมพูชา บรูไน และลาว มีประชากรรวมกันเกือบ 650 ล้านคน และมีจีดีพีมากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์

ลาว ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ซึ่งเข้ารับตำแหน่งประธานหมุนเวียนอาเซียนในปีนี้ เป็นประเทศที่ยากจนที่สุดของกลุ่มและเป็นหนึ่งในประเทศที่เล็กที่สุด และหลายคนแสดงความกังขาว่าจะสามารถบรรลุผลสำเร็จได้มากเพียงใด ในขณะที่วิกฤตทวีความรุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ลาวถือเป็นประเทศอาเซียนประเทศแรกที่มีพรมแดนติดกับพม่าที่ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม นับตั้งแต่กองทัพพม่าเข้าควบคุมประเทศ ซึ่งนั่นทำให้มีมุมมองแตกต่างจากประธานปีก่อนๆ

ลาวได้ส่งผู้แทนพิเศษไปยังพม่าเพื่อพบหารือกับผู้นำรัฐบาลทหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ในความพยายามที่จะสร้างความก้าวหน้าในแผนฉันทมติ 5 ข้อของอาเซียน ในการสร้างสันติภาพ

แผนดังกล่าวเรียกร้องการยุติความรุนแรงในพม่าโดยทันที การเจรจาระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การไกล่เกลี่ยโดยผู้แทนพิเศษของอาเซียน การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านช่องทางของอาเซียน และการเยือนพม่าของผู้แทนพิเศษเพื่อพบหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

แต่จนถึงขณะนี้ ผู้นำทหารพม่ายังเพิกเฉยต่อแผนดังกล่าว และความรุนแรงและวิกฤตด้านมนุษยธรรมขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

สะเหลิมไซกล่าวว่าอาเซียนจะยังคงผลักดันการดำเนินการตามฉันทมติอย่างเต็มที่ต่อไป ขณะเดียวกัน ก็เพิ่มการสนับสนุนด้านมนุษยธรรมด้วย

“เราคิดว่าความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในช่วงเวลานี้ขณะดำเนินการตามฉันทมติ เรายินดีในความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะพยายามสร้างระเบียงมนุษยธรรมที่สามารถให้การสนับสนุนและช่วยเหลือชาวพม่าทุกคน” รัฐมนตรีของลาว กล่าว

ลาวเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากที่สุดกับจีน และบางคนอาจมองว่าลาวอาจพยายามที่จะให้เพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ของตนแห่งนี้ช่วยเหลือจัดการกับวิกฤตในพม่า ซึ่งปักกิ่งเองก็มีอิทธิพลมากเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม จีนกล่าวว่าจะไม่แทรกแซงในกิจการภายในของประเทศอื่นๆ และไม่ทราบว่าการเข้ามามีบทบาทดังกล่าวจะเป็นที่ยอมรับของประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ หรือไม่


เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน ยังคงติดพันกับข้อพิพาททางทะเลกับจีน เกี่ยวกับการอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้ หนึ่งในเส้นทางเดินเรือสำคัญที่สุดของโลก และอินโดนีเซียยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นการรุกล้ำของปักกิ่งในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศ

การประชุมอาเซียนในลาวเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ กำลังพบหารือกับเจ้าหน้าที่ในเวียดนาม โดยหนึ่งในประเด็นหารือคือความตึงเครียดที่กำลังดำเนินอยู่ในทะเลจีนใต้

ฟิลิปปินส์มองหาการสนับสนุนเพิ่มเติมจากเพื่อนบ้านในอาเซียน ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นกับจีน ที่หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าอาจยกระดับไปสู่ความขัดแย้งวงกว้างที่อาจเกี่ยวข้องกับวอชิงตัน ที่เป็นพันธมิตรแบบมีพันธสัญญาที่ยาวนานของมะนิลา

รัฐบาลฟิลิปปินส์ประท้วงการใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง เลเซอร์เกรดทหาร และการสกัดกั้นขัดขวางที่เป็นอันตรายของหน่วยยามฝั่งของจีน ที่นำไปสู่การกระทบกระทั่งกันเล็กน้อยใกล้กับสันดอนโธมัสที่สองที่ฟิลิปปินส์ยึดครองอยู่

จีนและอาเซียนเห็นพ้องกันในปี 2545 และปี 2555 เกี่ยวกับปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ โดยพยายามที่จะปรับปรุงเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อการแก้ไขความแตกต่างและข้อพิพาทอย่างสันติและยั่งยืน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีสัญญาณของการปฏิบัติตามปฏิญญาดังกล่าว

ที่หลวงพระบาง กลุ่มได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินการตามปฏิญญาอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ตามคำแถลงที่ออกโดยลาวหลังการหารือ

“เรายืนยันอีกครั้งถึงความสำคัญของการรักษาและส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความปลอดภัยและเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ และการบินเหนือทะเลจีนใต้” คำแถลงระบุ

ภายใต้การเป็นประธานของอินโดนีเซียปีก่อน อาเซียนได้เห็นพ้องกับจีนถึงแนวปฏิบัติเพื่อเร่งการเจรจาเกี่ยวกับหลักปฏิบัติในทะเลจีนใต้ แต่ยังคงไม่มีผลลัพธ์

ในการเจรจาวันนี้ สะเหลิมไซกล่าวว่าหลายประเทศในกลุ่มหยิบยกประเด็นเรื่องความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ และลาวหวังที่จะได้อ่านหลักปฏิบัติกับจีนเป็นครั้งที่สามโดยเร็วที่สุด

“นั่นจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ทั้งประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐที่อ้างสิทธิ และจีน สามารถสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นได้มากขึ้น ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ ควรได้รับการแก้ไขด้วยสันติวิธี ผ่านการเจรจาและการปรึกษาหารือ” สะเหลิมไซ กล่าว

สะเหลิมไซกล่าวว่าทุกฝ่ายที่อ้างสิทธิในทะเลจีนใต้ จำเป็นต้องเคารพอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล

ภายใต้อนุสัญญาดังกล่าว ศาลที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติได้ตัดสินในปี 2559 ว่าการอ้างสิทธิของจีนในทะเลจีนใต้ตามประวัติศาสตร์นั้นเป็นโมฆะ และยังระบุว่าปักกิ่งละเมิดสิทธิของฟิลิปปินส์ในการทำประมงในสันดอนดังกล่าว แต่จีนปฏิเสธที่จะเข้าร่วมอนุญาโตตุลาการ และไม่ยอมรับคำตัดสินข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ของศาล.
กำลังโหลดความคิดเห็น