เอเอฟพี - มาเลเซียเตรียมผลักดันการดำเนินการที่เข้มงวดมากขึ้นกับพม่าเมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มภูมิภาคประชุมหารือกันในสัปดาห์นี้ ท่ามกลางความไม่พอใจต่อรัฐบาลทหารจากการไม่ให้ความร่วมมือต่อความพยายามที่จะแก้ไขวิกฤต
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่เป็นหัวหอกในความพยายามทางการทูตแต่ไร้ผลในการฟื้นฟูสันติภาพ ได้ประณามการประหารนักโทษ 4 คน ของรัฐบาลทหารพม่า
พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่การรัฐประหารในเดือน ก.พ. เมื่อปีก่อน และยอดผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรงของทหารนั้นมากกว่า 2,100 คน ตามการระบุของกลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่น
การประชุมรัฐมนตรีในกรุงพนมเปญตั้งแต่วันพุธ (3) คาดว่าจะหยิบยกประเด็นเรื่องการขาดความคืบหน้าในแผนฉันทมติ 5 ข้อของอาเซียนที่ได้ตกลงกันไว้ในเดือน เม.ย.2564 ที่เรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรงในทันที และการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารและฝ่ายตรงข้ามการรัฐประหาร
นอกจากนี้ ตามร่างคำแถลงการณ์ที่เอเอฟพีได้รับยังระบุว่า จะแสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ล่าสุดและเรียกร้องให้มีการยับยั้งชั่งใจ โดยบรรดารัฐมนตรีจะยังเรียกร้องการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อการดำเนินการตามฉันทมติ 5 ข้ออย่างมีประสิทธิภาพและครบถ้วน
หลังไร้ความคืบหน้าตามแผนมานานกว่า 1 ปี มาเลเซียจะเสนอกรอบการทำงานสำหรับการดำเนินการ
“องค์ประกอบหลักของกรอบการทำงานคือต้องมีจุดสิ้นสุด คุณจำเป็นต้องมีจุดสิ้นสุด แล้วจุดสิ้นสุดของฉันทมติ 5 ข้อคืออะไร” ไซฟุดดิน อับดุลละห์ รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย กล่าวกับเอเอฟพี
ภายในกลุ่มภูมิภาค ความผิดหวังกำลังขยายตัวขึ้นหลังรัฐบาลทหารพม่าเดินหน้าประหารชีวิตเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ แม้จะมีคำวิงวอนจากนายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชาก็ตาม
ในบรรดาผู้ถูกประหารชีวิต 4 คน ยังรวมถึง เพียว เซตา ตอ แร็ปเปอร์ที่ผันตัวมาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของอองซานซูจี ผู้นำพลเรือนที่ถูกโค่นอำนาจ และจ่อ มิน ยู นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่รู้จักกันดีในชื่อ จิมมี
“มันแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารกำลังลบหลู่ดูหมิ่นแผนฉันทมติ” ไซฟุดดินเขียนลงในบทความหนังสือพิมพ์สุดสัปดาห์
วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ ระบุว่า การประหารชีวิตเป็นความล้มเหลวอันใหญ่หลวงต่อความพยายามของอาเซียนในการแก้ไขวิกฤต ขณะที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยระบุว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ปัญหาของพม่าที่ยุ่งยากยิ่งเลวร้ายลง
นักการทูตอาวุโสของอาเซียนคนหนึ่งกล่าวกับเอเอฟพีว่าเขาไม่คิดว่าจะมีประเทศใดไปไกลถึงขั้นเรียกร้องให้ขับพม่าออกจากกลุ่ม
แต่สมาชิกบางคนนำโดยมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ต้องการห้ามไม่ให้รัฐบาลทหารส่งรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมของอาเซียนทั้งหมด รวมถึงการประชุมสุดยอดในเดือน พ.ย. จนกว่าพม่าจะมีความคืบหน้าในแผนฉันทมติ 5 ข้อ
“ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งทางการเมืองของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะฝ่ายบริหารของกองทัพไม่เป็นที่ยอมรับ” ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายกิจการอาเซียนของฟิลิปปินส์ กล่าว
วันนา หม่อง ละวิน นักการทูตระดับสูงของพม่า ไม่ได้รับเชิญไปร่วมประชุมยังกรุงพนมเปญ และยังถูกกีดกันจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเมื่อเดือน ก.พ. ขณะที่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำคณะรัฐบาลทหารถูกปฏิเสธจากการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเมื่อปีก่อน
“แม้กระทั่งเกาหลีเหนือยังได้รับการต้อนรับในที่ประชุมนี้ แต่รัฐบาลทหารพม่าไม่ได้รับการต้อนรับ ต้องยอมรับว่าพม่านั้นโดดเดี่ยวแม้แต่ในหมู่เพื่อนบ้าน” แอรอน คอนเนลลี ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ กล่าว
นอกจากความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียแล้ว ยังมีเรื่องความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ที่จะเป็นอีกประเด็นร้อนในวาระการประชุม
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ จะเดินทางมาร่วมการประชุม ขณะที่หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน และเซอร์เก ลาฟรอฟ นักการทูตระดับสูงของรัสเซีย คาดว่าจะเข้าร่วมและประชุมกับรัฐมนตรีของอาเซียนเช่นกัน
แต่นักวิเคราะห์ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำเช่นในปี 2555 ที่กัมพูชา ซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของปักกิ่ง เป็นเจ้าภาพการประชุมอาเซียนและถูกกล่าวหาว่าเข้าข้างจีนในข้อพิพาททางทะเลจนเป็นผลให้ไม่มีการออกคำแถลง
“กัมพูชาได้บทเรียนแล้ว นับเป็นครั้งแรกที่อาเซียนไม่ได้ออกแถลงการณ์ร่วมและกัมพูชาได้รับผลเสียครั้งใหญ่จากสิ่งนั้น ฮุนเซน..คงไม่อยากทำให้ตัวเองเดือดร้อนอีกแล้ว” นักวิเคราะห์จากไทย กล่าว
จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ของทะเลจีนใต้ โดยมีบรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และเวียดนาม แข่งขันอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในน่านน้ำแห่งนี้เช่นกัน.