xs
xsm
sm
md
lg

‘ฮุน มาเนต’ ยันโครงการย้ายชาวบ้านออกจากเขตนครวัดจำเป็น แม้ถูกกลุ่มสิทธิประณามหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชา ย้ำคำมั่นว่าการย้ายชาวกัมพูชาหลายพันครอบครัวออกจากเขตปราสาทนครวัดจะยังคงดำเนินต่อไป แม้กลุ่มสิทธิมนุษยชนจะส่งเสียงประณามมากขึ้นก็ตาม

เจ้าหน้าที่ยืนยันมานานว่าชาวเขมรราว 10,000 ครอบครัว ยินยอมที่จะออกจากแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก ไปชุมชนรุนตาเอก ชุมชนแห่งใหม่ที่อยู่ห่างออกไปราว 25 กิโลเมตร

องค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวหาว่ากัมพูชาฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการขับไล่ผู้คนออกจากสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศ และเรียกร้องให้ยุติการกระทำดังกล่าวทันที

แต่ฮุน มาเนต กล่าวว่า การโยกย้ายถิ่นฐานจะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อให้นครวัดที่เป็นจิตวิญญาณของประเทศ ได้รับการปกป้องคุ้มครอง และกระตุ้นให้ชาวบ้านร่วมมือมากขึ้น

“เราต้องร่วมมือกันอนุรักษ์และดำเนินการเพื่อให้จิตวิญญาณแห่งนี้ยังคงความสดใสต่อไปอีกหลายพันปี” ผู้นำกัมพูชา กล่าว

“นี่เป็นก้าวแรก และเราจะดำเนินการต่อไป” ฮุน มาเนต กล่าว พร้อมออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ป้องกันไม่ให้ผู้คนเข้าไปตั้งถิ่นฐานภายในสถานที่ดังกล่าว

ผู้นำกัมพูชายอมรับว่า ‘ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะย้ายจากสถานที่หนึ่งไปอีกสถานที่หนึ่ง’ ในพิธีมอบโฉนดที่ดินให้ประชาชนเกือบ 5,000 ครอบครัว

เขาให้คำมั่นว่าจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นที่ชุมชนรุนตาเอก รวมทั้งจัดให้มีรถโดยสารรับส่ง 10 เที่ยวต่อวันระหว่างสถานที่ใหม่และสถานที่เก่า

ฮุน มาเนต กล่าวว่า การย้ายถิ่นฐานดังกล่าวเป็นเพราะเงื่อนไขบางประการจากยูเนสโก เพื่อให้นครวัดยังคงสถานะแหล่งมรดกโลก

องค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่จากองค์การอัปสรา หน่วยงานที่ดูแลจัดการพื้นที่ดังกล่าว และกระทรวงที่ดิน กำลังใช้ยูเนสโกเป็นเหตุผลเพื่ออ้างความชอบธรรมในการย้ายถิ่นฐาน

ในเดือน พ.ย. ยูเนสโกกล่าวว่าพวกเขากังวลอย่างยิ่งต่อการโยกย้ายดังกล่าว โดยเสริมว่าพวกเขาไม่เคยร้องขอ หรือสนับสนุน และไม่มีส่วนร่วมในโครงการนี้

ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 หมู่ปราสาทเหล่านี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาเยือนได้มากกว่า 2 ล้านคนต่อปี

นักท่องเที่ยวเหล่านี้ก่อให้เกิดเศรษฐกิจระดับจุลภาค ทั้งแผงขายของ ขายอาหาร และของที่ระลึก ตลอดจนขอทาน และประชากรในพื้นที่ก็ขยายตัวขึ้นจากประมาณ 20,000 คน ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เป็นประมาณ 120,000 คนในปี 2556

ทางการกัมพูชากล่าวว่า การตั้งถิ่นฐานอย่างไม่เป็นทางการสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม จากการผลิตขยะและการใช้ทรัพยากรน้ำมากเกินไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น