เอพี - ยูเนสโกเรียกร้องให้ทางการกัมพูชาไม่ดำเนินการบังคับไล่ที่ในพื้นที่ปราสาทนครวัดอันโด่งดังของประเทศ หลังองค์การนิรโทษกรรมสากลรายงานถึงผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัย และกล่าวหาว่าว่าหน่วยงานด้านวัฒนธรรมของสหประชาชาติล้มเหลวที่จะคัดค้านรัฐบาลกัมพูชาในประเด็นปัญหานี้
ในตอนนี้ยูเนสโกได้สั่งให้กัมพูชาส่งรายงานฉบับใหม่เกี่ยวกับสถานะของการอนุรักษ์ปราสาทนครวัดภายในวันที่ 1 ก.พ. และระบุว่ารายงานดังกล่าวควรรวมถึงการตอบสนองต่อข้อค้นพบขององค์การนิรโทษกรรมสากลด้วย โดยผู้อำนวยการของยูเนสโกระบุว่าสภาพความเป็นอยู่ของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่มรดกโลกควรถือเป็นความสำคัญ
องค์การนิรโทษกรรมสากลระบุในรายงานว่าการขับไล่ชาวกัมพูชาราว 10,000 ครอบครัวของทางการตั้งแต่ปีก่อนนั้นเป็นการละเมิดกฎหมายประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ และยังระบุว่าผู้คนที่ถูกขับไล่ได้รับค่าชดเชยเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้รับเลย และสถานที่ตั้งถิ่นฐานหลัก 2 แห่งของรัฐบาลมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอในแง่ของถนน ประปา ไฟฟ้า และระบบสุขาภิบาล
ยูเนสโกกล่าวว่า รายงานดังกล่าวให้ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับสถานการณ์ในพื้นที่ และได้เชิญตัวแทนขององค์การนิรโทษกรรมสากลมายังสำนักงานใหญ่ขององค์กรในกรุงปารีสเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้
ยูเนสโกระบุในคำแถลงว่าหน่วยงานได้เรียกร้องให้ทางการกัมพูชาให้คำมั่นอย่างชัดเจนว่าจะไม่ดำเนินการบังคับไล่ที่ในเมืองพระนคร (Angkor) และนำมาตรการที่จำเป็นทั้งหมดดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้แน่ใจว่าสิทธิมนุษยชนของชุมชนที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นได้รับการเคารพอย่างเต็มที่
นครวัดได้รับสถานะแหล่งมรดกโลกในปี 2535 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความวิตกว่าการเติบโตของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในพื้นที่อาจส่งผลกระทบต่อการอนุรักษ์
อย่างไรก็ตาม การได้รับสถานะดังกล่าวไม่ชัดเจนถึงการตั้งถิ่นฐานที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ ซึ่งไม่ถูกรบกวนจนกระทั่งปีที่ผ่านมา รายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลระบุ เวลานี้ กัมพูชามีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวหลังจากการระบาดของโควิด-19
รายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากลได้อ้างคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนเมื่อปีก่อนที่ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวเสี่ยงที่จะเสียสถานะแหล่งมรดกโลก เว้นแต่ประชาชนจะย้ายออกไป นอกจากนี้ ยังกล่าวว่าผู้ที่ไม่สมัครใจย้ายจะไม่ได้รับค่าชดเชย.