xs
xsm
sm
md
lg

อินโดนีเซียตั้งโต๊ะเจรจาทางการเมืองกับหลายฝ่ายในความขัดแย้งพม่า ชี้มีสัญญาณเชิงบวก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - อินโดนีเซียเปิดเผยวานนี้ (24) ว่าได้เป็นเจ้าภาพจัดการเจรจา ‘เชิงบวก’ กับฝ่ายหลักๆ ในความขัดแย้งในพม่า เพื่อเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพที่หยุดชะงักมาเกือบ 3 ปี หลังการรัฐประหารที่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของประเทศ

อินโดนีเซียเป็นประธานของกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในปีนี้ และได้ดำเนินความพยายามทางการทูตเพื่อแก้ไขวิกฤต แม้ว่าความพยายามในการดำเนินการตามแผน 5 ประการที่ได้ตกลงไว้กับผู้ปกครองทหารของพม่าจะไม่ประสบผลก็ตาม

การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 20-22 พ.ย. ในกรุงจาการ์ตา เกี่ยวข้องกับกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย กลุ่มติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ และตัวแทนเจรจาของรัฐบาลทหาร คำแถลงระบุโดยไม่ได้ให้รายละเอียด

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่เป็นหน่วยงานเงาที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลที่ถูกโค่นล้ม ก็ส่งตัวแทนมาเช่นกัน

“วัตถุประสงค์หลักคือการนำฝ่ายที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งมาสู่การเจรจาที่ครอบคลุม เพื่อลดความรุนแรง และรับประกันความปลอดภัยของการจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้ประชาชนชาวพม่าที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง” กระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ระบุในคำแถลง

“สำนักงานผู้แทนพิเศษยังอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อความจากแต่ละกลุ่มที่คาดว่าจะปูทางไปสู่การเจรจาเบื้องต้นที่เป็นไปได้”

จาการ์ตาหวังว่าสิ่งนี้จะนำไปสู่ ‘การเจรจาระดับชาติครอบคลุมทุกฝ่ายเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและครอบคลุมต่อวิกฤต คำแถลงระบุ ในขณะที่ทุกฝ่ายให้สัญญาณเชิงบวกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จัดการเจรจาแบบครอบคลุมเร็วๆ นี้

แต่ความไม่สงบในประเทศขยายตัวลุกลามแม้วจะมีงานทางการทูตที่เข้มข้นก็ตาม

จนถึงขณะนี้ ผู้คนมากกว่า 286,000 คน ในพม่าต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากการสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ ตามการระบุของสหประชาชาติ โดยอธิบายว่าเป็นการลุกลามครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2564

การเป็นประธานกลุ่มของจาการ์ตาในปีนี้ทำให้เกิดความหวังว่าอาเซียนจะสามารถผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างสันติ โดยใช้น้ำหนักทางเศรษฐกิจและประสบการณ์ทางการทูตของประเทศ  

“อินโดนีเซียมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือชาวพม่าต่อไปในการค้นหาวิธีแก้ปัญหาทางการเมืองอย่างครอบคลุมเพื่อสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืน” เอกอัครราชทูตจากสำนักงานผู้แทนพิเศษว่าด้วยกิจการพม่าของอินโดนีเซียกล่าว

อาเซียนถูกนักวิจารณ์ตำหนิมานานแล้วว่าเป็นเพียงเวทีพูดคุย แต่กฎบัตรของกลุ่มที่มีหลักของฉันทมติและการไม่แทรกแซงจำกัดความสามารถในการดำเนินการ

ในการประชุมหารือของผู้นำในเดือน ก.ย. กลุ่มประณามความรุนแรงและการโจมตีพลเรือนในพม่า โดยกล่าวโทษโดยตรงต่อรัฐบาลทหาร.
กำลังโหลดความคิดเห็น