รอยเตอร์ - ความขัดแย้งในพม่าเป็นปัญหายากสำหรับอาเซียนที่จะรับมือ ด้วยมีความคืบหน้าเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยในการแก้ปัญหาและการสู้รบที่ทวีความรุนแรงขึ้น เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์กล่าว
ผู้นำฟิลิปปินส์กล่าวว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีความมุ่งมั่นตั้งใจ แต่ปัญหามีความซับซ้อน รวมถึงผลกระทบด้านมนุษยธรรม
สหประชาชาติกล่าวว่า ผู้คนมากกว่า 1 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น นับตั้งแต่กองทัพพม่าก่อรัฐประหารในปี 2564 ที่ยุติการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินมาได้เพียงทศวรรษ และทำให้ประเทศตกอยู่ในความขัดแย้ง และเศรษฐกิจพังทลาย
“อาเซียนมีแรงผลักดันที่จะแก้ปัญหานี้ แต่นี่เป็นปัญหาที่ยากมากๆ” มาร์กอส กล่าว
การปราบปรามผู้เห็นต่างหลังการรัฐประหารของรัฐบาลทหารทำให้เกิดขบวนการต่อต้านที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ และอาเซียนห้ามไม่ให้นายพลพม่าเข้าร่วมการประชุมจนกว่าพวกเขาจะปฏิบัติตามแผนงานสันติภาพของกลุ่ม
ฟิลิปปินส์จะเป็นประธานอาเซียนในปี 2569 โดยทำหน้าที่แทนพม่าในปีนั้น
ประชาชนหลายหมื่นคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นนับตั้งแต่เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ทหารต่อสู้กับการโจมตีของกลุ่มพันธมิตรชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม และนักสู้สนับสนุนประชาธิปไตย
มาร์กอสอ้างถึงการวิเคราะห์เหตุความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า รัฐบาลทหารเสียการสนับสนุนจากทหารของตนเอง
ผู้นำฟิลิปปินส์กล่าวว่า ความเสียหายด้านมนุษยธรรมจากความขัดแย้งขยายตัวขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รวมถึงฟิลิปปินส์เองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากพลเมืองของตนเป็นหนึ่งในเหยื่อการค้ามนุษย์ในพม่าด้วย.