รอยเตอร์ - สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรเพิ่มเติมกับพม่า โดยมุ่งเป้าไปที่การจัดหาน้ำมันเครื่องบินเจ็ตให้กองทัพพม่าจากการโจมตีทางอากาศในพื้นที่ที่มีพลเรือนอยู่อาศัย กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุ
กระทรวงระบุในคำแถลงว่าได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรกับบุคคล 2 คน และหน่วยงาน 6 แห่ง ที่มีความเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของกองทัพพม่า ที่วอชิงตันกล่าวหาว่าทำให้การกระทำทารุณโหดร้ายดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงผ่านการนำเข้า จัดเก็บ และจำหน่ายน้ำมันเครื่องบินให้กองทัพ
นับตั้งแต่รัฐบาลทหารยึดอำนาจในเดือน ก.พ.2564 พม่าตกอยู่ในความโกลาหลวุ่นวาย ก่อให้เกิดขบวนการต่อต้านที่ต่อสู้กับกองทัพในหลายแนวรบ และนำไปสู่การปราบปรามฝ่ายต่อต้านอย่างนองเลือด
กระทรวงการคลังกล่าวว่า กองทัพยังกระทำเหตุทารุณโหดร้ายและความรุนแรงต่อประชาชนชาวพม่านับตั้งแต่รัฐประหาร และระบุว่ากองทัพพึ่งพาการโจมตีทางอากาศมากขึ้นในพื้นที่ที่มีพลเรือนอาศัยอยู่ โดยอ้างถึงการโจมตีหมู่บ้าน Let Yet Kone ในภาคกลางของพม่า และหมู่บ้านในรัฐกะฉิ่น ทางตอนเหนือของประเทศที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 80 คน
“รัฐบาลทหารพม่ายังคงสร้างความเจ็บปวดและทุกข์ทรมานต่อประชาชนของตนเอง” ไบรอัน เนลสัน ปลัดกระทรวงการคลังฝ่ายข่าวกรองด้านการก่อการร้ายและการเงิน ระบุในคำแถลง
“สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นในคำมั่นสัญญาที่มีต่อประชาชนชาวพม่า และจะยังคงปฏิเสธการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพที่กระทำการโหดร้ายทารุณเหล่านี้” คำแถลงระบุ
ด้านสถานทูตพม่าในวอชิงตันไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความเห็นจากรอยเตอร์
กระทรวงการคลังพุ่งเป้าที่ผู้จัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานของกองทัพพม่า โดยกำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับบริษัท Asia Sun Group บริษัท Asia Sun Trading Co.Ltd และบริษัท Cargo Link Petroleum Logistics Co.Ltd.
นอกจากนี้ ยังพุ่งเป้าไปที่บุคคลและหน่วยงานที่กระทรวงการคลังระบุว่ามีความเกี่ยวข้องหรือเคยจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพพม่า รวมถึงผู้ที่ร่วมงานใกล้ชิดกับผู้นำรัฐบาลทหารและเกี่ยวข้องกับบริษัท Star Sapphire Group และบริษัท Star Sapphire Trading Company Limited.
สหรัฐฯ และประเทศตะวันตกอื่นๆ ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรหลายชุดที่มุ่งเป้าที่สมาชิกของรัฐบาลทหาร หน่วยงานของรัฐบาลทหาร และบริษัทของกองทัพ เพื่อพยายามจำกัดความสามารถในการระดมทุนของพวกเขา
รายงานของสหประชาชาติที่เผยแพร่ในเดือนนี้พบว่าความรุนแรงทวีความรุนแรงขึ้นในภาคตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ของพม่าเนื่องจากกองทัพโจมตีทางอากาศและระดมยิงปืนใหญ่อย่างไม่เลือก เผาหมู่บ้านจำนวนมากเพื่อขับไล่พลเรือน และปฏิเสธการเข้าถึงด้านมนุษยธรรม
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารกล่าวว่าพวกเขาดำเนินการปราบปรามอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อปราบปรามสิ่งที่พวกเขาระบุว่าเป็นการก่อการร้าย และปฏิเสธว่ามีเหตุทารุณโหดร้ายเกิดขึ้น.