รอยเตอร์ - เวียดนามกำลังเตรียมออกกฎใหม่เพื่อจำกัดบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ที่สามารถโพสต์เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับข่าวสาร ตามการเปิดเผยของผู้ที่คุ้นเคยกับประเด็นนี้ 3 ราย ในขณะที่ทางการพยายามควบคุมแหล่งข่าวและข้อมูลในประเทศให้รัดกุมยิ่งขึ้น
แหล่งข่าว 2 รายระบุว่า กฎใหม่ที่คาดว่าจะประกาศภายในสิ้นปีและยังไม่เปิดเผยรายละเอียดนี้ จะสร้างพื้นฐานทางกฎหมายสำหรับการควบคุมการเผยแพร่ข่าวสารบนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก และยูทูป ในขณะเดียวกัน ก็กำหนดภาระการกลั่นกรองสำคัญกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม
ทั้งนี้ แหล่งข่าวขอไม่ให้ระบุตัวตนเนื่องจากการหารือเกี่ยวกับกฎระเบียบใหม่นี้ยังคงเป็นความลับ
กระทรวงข้อมูลและการสื่อสาร และกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนาม ต่างไม่ได้ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นในเรื่องนี้จากรอยเตอร์
“รัฐบาลต้องการแก้ไขสิ่งที่รัฐบาลมองว่าเป็น ‘News-lisation’ ของโซเชียลมีเดีย หนึ่งในแหล่งข่าวระบุ
“News-lisation” เป็นคำที่ทางการเวียดนามใช้อธิบายถึงกระบวนการที่ทำให้ผู้ใช้งานเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าวเป็นช่องข่าวที่ได้รับอนุญาตจากทางการ
เจ้าหน้าที่รัฐได้จัดการประชุมลับกับบริษัทอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยมเพื่อสรุปว่าบัญชีประเภทใดที่จะได้รับอนุญาตให้โพสต์เนื้อหาข่าวภายใต้กฎใหม่ และเจ้าหน้าที่ยังจะสามารถสั่งให้บริษัทสื่อสังคมออนไลน์แบนบัญชีที่ละเมิดกฎระเบียบเหล่านั้น
พรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองเวียดนามยังคงเซ็นเซอร์สื่ออย่างเข้มงวดและอดกลั้นต่อการเห็นต่างเพียงเล็กน้อย
แหล่งข่าว 2 รายบอกกับรอยเตอร์ว่า จะมีการประกาศกฎระเบียบเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพิ่มเติมในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 ถึงต้นปี 2566
ในขณะที่หนุ่มสาวชาวเวียดนามที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีหันมาใช้สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นเพื่อรับข้อมูลข่าวสาร แพลตฟอร์มเหล่านั้นจึงตกเป็นเป้าของรัฐบาลในความพยายามที่จะจำกัดการไหลของข่าวสารจากแหล่งที่ไม่ได้รับอนุญาต
เวียดนามเป็นตลาด 10 อันแรกของโลกสำหรับเฟซบุ๊ก ที่มีผู้ใช้งาน 60-70 ล้านราย ตามข้อมูลของปี 2564 และแหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับเรื่องนี้กล่าวว่า เวียดนามสร้างรายได้ให้บริษัทราว 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี
ส่วนยูทูปมีผู้ใช้งาน 60 ล้านรายในเวียดนาม ขณะที่ติ๊กต็อกมี 20 ล้านราย ตามการประเมินของรัฐบาลในปี 2564
บริษัทเมตา แพลตฟอร์มที่เป็นเจ้าของเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น ส่วนกูเกิลและยูทูปของบริษัทอัลฟาเบทก็ไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นจากรอยเตอร์เช่นกัน
ด้านติ๊กต็อกระบุในคำแถลงว่า บริษัทได้จัดการกับการละเมิดเนื้อหาตามกฎหมายที่บังคับใช้และปฏิบัติตามข้อแนะนำ แต่ไม่ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับกฎระเบียบที่รอดำเนินการของเวียดนาม
เมื่อเดือน ก.ค. รัฐบาลเวียดนามได้ประกาศใช้ชุดแนวทางปฏิบัติว่าด้วยคุณสมบัติการเป็นช่องข่าว รวมถึงเกณฑ์ในการจำแนกว่าช่องข่าวใดเป็นของจริงและของปลอม และเตือนว่าเว็บไซต์เครือข่ายสังคมบางแห่งมีบัญชีที่ทำให้ผู้ใช้งานเข้าใจผิดคิดว่าเป็นหนังสือพิมพ์
แนวทางเหล่านี้คาดว่าจะรวมอยู่ในกฎระเบียบใหม่ ซึ่งจะมีผลผูกพันตามกฎหมาย
นอกจากนี้ คาดว่าทางการจะใช้กฎใหม่กำหนดให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียลบเนื้อหาที่ถือว่าเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติทันที และถอดเนื้อหาผิดกฎหมายภายใน 24 ชั่วโมง แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวบอกกับรอยเตอร์ในเดือน เม.ย.ว่า กฎใหม่ที่เดิมวางแผนไว้สำหรับเดือน ก.ค. สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจของรัฐบาลต่ออัตราการลบเนื้อหาของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งสิ่งนี้จะดำเนินการผ่านการแก้ไขกฎหมายอินเทอร์เน็ตหลักของประเทศ
ในเดือน ส.ค. เวียดนามยังออกระเบียบข้อบังคับใหม่ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือน ต.ค. ที่กำหนดให้บริษัทเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้งานและตั้งสำนักงานในประเทศ.