กรมควบคุมโรคแจงผ่อนคลายติด "โควิด" ไม่มีอาการ-อาการน้อย ไม่ต้องแยกกัก แต่ต้องเข้มสวมหน้ากาก ส่วนจะไปทำงานได้หรือไม่ ขึ้นกับที่ทำงานและรูปแบบงาน ทำตาม DMHT ได้หรือไม่ ย้ำใช้ LAAB ไม่เสียค่าใช้จ่าย
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบมาตรการโควิด 19 รองรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยผูป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่ต้องแยกกักแต่ให้เข้ม DMHT 5 วันแทน ว่า กรณี "กักตัว" ใช้กับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ส่วน "แยกกัก" คือ ผู้ป่วยหรือติดเชื้อแล้วหรือการ Isolation แต่ขณะนี้เราต้องการให้ใกล้เคียงกับปกติ เนื่องจากสถานการณ์โควิดอาการไม่ได้รุนแรง คล้ายโรคหวัด โรคอื่นๆ ซึ่งหากเรารู้ตัวว่าป่วย แต่ไม่ยอมป้องกันตนเอง ก็จะทำให้ผู้อื่นเสี่ยงไปด้วย จึงแนะนำให้มีการปฏิบัติตาม DMHT สำคัญที่สุด คือ สวมใส่หน้ากากอนามัย
เมื่อถามถึงกรณีป่วยโควิดอาการไม่มากหรือไม่มีอาการให้ปฏิบัติตาม DMHT แต่การไปทำงาน ต้องขึ้นกับนโยบายบริษัทหรือผู้ประกอบการ หรือความเสี่ยงแพร่เชื้อด้วยหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ใช่ หากเราทำงานใน รพ. และต้องอยู่ใกล้หรือดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งตามคำแนะนำคือ ต้อง DMHT จะมี Distancing เว้นระยะห่าง การดูแลอาจต้องอยู่คนละห้องเลย หรือหากเป็นเจ้าของสถานบริการดูแลผู้สูงอายุ ก็อาจต้องให้หยุดงาน เพราะผู้สูงอายุหากติดเชื้อเสี่ยงอาการรุนแรงได้
เมื่อถามว่าหากครบกำหนด 5 วัน ผู้ติดเชื้ออาการน้อยหรือไม่มีอาการต้องตรวจ ATK หรือไม่ นพ.โสภณกล่าวว่า ไม่จำเป็น ขึ้นอยู่กับความเสี่ยง เช่น ทำงานใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยงก็ต้องระวังตัวเองเป็นพิเศษ โดยหลักคือ สวมหน้ากากอนามัย หากป่วยก็ควรต้องสวมหน้ากากอนามัย ต้องระวังให้มากกว่าปกติ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อไปผู้อื่น หรือง่ายๆ คือต้องปฏิบัติตาม DMHT
เมื่อถามถึงความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข้มกระตุ้นหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า จากข้อมูลหากเป็นผู้สูงอายุควรได้เข็ม 4 แต่หากวัยหนุ่มสาว ไม่มีโรคประจำตัวควรได้เข็ม 3 เพราะหลักการการฉีดวัคซีน คือ ยังสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงหรือไม่ หากไม่ก็ต้องกระตุ้น และมีความเสี่ยงหรือไม่ หากระบาดหนักๆ ภูมิตกนิดก็ต้องรีบฉีด แต่วันนี้ค่อนข้างปลอดภัย ความเสี่ยงก็ลด แต่การฉีด 2 เข็มไม่พอแน่นอน
ถามว่าการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (LAAB) เนื่องจากมีนักวิชาการออกมาตั้งคำถามว่า อาจไม่เหมาะสมกับการใช้รักษา เพราะราคายังสูง นพ.โสภณ กล่าวว่า วันนี้เรามีในมือก็ควรใช้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มภูมิคุ้มกันต่ำ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรามีของมากพอ ส่วนหนึ่งหมดอายุปลายปีไม่กี่หมื่น แต่ที่เหลือจะหมดอายุ ต.ค. 2566 เรามีสำรองมากพอ แต่เช่นเดียวกัน LAAB ก็เหมือนวัคซีน ฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งคนที่ได้รับเป็นกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้วภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น แต่เราก็ไม่รู้ว่า หากผ่านไป 6 เดือน สถานการณ์โควิดอาจไม่มีอะไรก็ได้ ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องใช้อีกก็ได้ ตอนนี้เป็นการคาดการณ์เรื่องในอนาคตทั้งหมด
ถามถึงกรณีมีความเข้าใจผิดว่า การใช้ LAAB ต้องเสียค่าใช้จ่าย นพ.โสภณ กล่าวว่า ไม่ต้องจ่ายเลย ใครที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้มาฉีดรพ.ของรัฐ เพราะจะมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์กำหนดอยู่ ทั้งนี้ ประเทศไทยเหมือนหลายประเทศที่ขึ้นทะเบียนแบบป้องกัน แต่ตอนนี้มีหลายประเทศเริ่มเห็นผลการใช้มากขึ้น อย่างญี่ปุ่นขึ้นทะเบียนวันที่ 30 ส.ค.2565 และยุโรปอนุมัติให้ใช้รักษาวันที่ 20 ก.ย.2565 ในผู้ป่วยโควิด 19 ที่เริ่มมีอาการในระยะแรกที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง ส่วนไทยกำลังจะยื่นเอกสารขออนุญาตขึ้นทะเบียนเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่เพิ่งติดเชื้อในระยะแรกตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์